กรุงเทพฯ 11 ม.ค. – ดีเอสไอ มีมติกล่าวหาอดีตรัฐมนตรี และผู้บริหารระดับสูง กระทรวงแรงงาน ในความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ หลังพบหลักฐานพัวพันหักค่าหัวคิวส่งแรงงานไปฟินแลนด์ ความเสียหายรวม 36 ล้านบาท
วันนี้ คณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ กองคดีการค้ามนุษย์ กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ และพนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด ในฐานะพนักงานอัยการที่อัยการสูงสุด ที่ได้รับมอบหมายร่วมสอบสวน ได้มีมติกล่าวหาอดีตรัฐมนตรี 2 คน และผู้บริหารระดับสูง กระทรวงแรงงาน อีก 2 คน รวมทั้งหมด 4 คน ในความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 149 และมาตรา 157 ประกอบมาตรา 83 และมาตรา 86
คดีนี้ เริ่มจากกระทรวงการต่างประเทศ และสถานเอกอัครราชทูตกรุงเฮลซิงกิ ได้ให้ความช่วยเหลือแรงงานไทยที่ไปทำงานเก็บผลไม้ป่าอย่างถูกต้องตามกฎหมายในฟินแลนด์ แต่กลับตกเป็นเหยื่อค้ามนุษย์ในการเดินทางกลับไทย เมื่อช่วยเหลือแล้ว กระทรวงการต่างประเทศ จึงได้ส่งเรื่องให้ดีเอสไอสอบสวน โดยดีเอสไอพิจารณาแล้วได้รับเป็นคดีพิเศษ แต่เนื่องจากเห็นว่าเป็นคดีความผิดที่ส่วนหนึ่งเกิดนอกราชอาณาจักร จึงเสนอสำนวนการสอบสวนไปยังอัยการสูงสุด จากนั้น อัยการสูงสุดพิจารณาแล้ว ได้มอบหมายให้พนักงานสอบสวนคดีพิเศษทำการสอบสวนต่อไป และมีคำสั่งให้พนักงานอัยการมาร่วมสอบสวน และมีการขอความร่วมมือระหว่างประเทศ เพื่อรวบรวมพยานหลักฐานจากฟินแลนด์ในความผิดฐานค้ามนุษย์
ต่อมา ฟินแลนด์ได้ส่งพยานหลักฐานสำคัญมาให้ และการสอบสวนปรากฏข้อเท็จจริงว่า มีขบวนการสมคบระหว่างนักการเมือง เจ้าหน้าที่รัฐ และบุคคลธรรมดา ร่วมกันเรียกรับผลประโยชน์ จากบริษัทในฝั่งไทยที่ทำหน้าที่ประสานงานกับบริษัทนำเข้าแรงงานฟินแลนด์ หรือเรียกง่ายๆ คือ เรียกเก็บค่าหัวคิว 3,000 บาทต่อแรงงานไทย 1 คน ทั้งๆ ที่ไม่มีสิทธิ์เรียกเก็บตามกฎหมาย ขณะที่ บริษัทประสานงานฝั่งไทย ได้นำค่าหัวคิวที่ถูกเรียกเก็บ มาเรียกเก็บจากคนงานที่ไปทำงานนอกเหนือจากค่าใช้จ่ายตามจริง
และในปี 2563 – 2566 ซึ่งเป็นช่วงที่มีการดำเนินคดี มีผู้อยู่ในข่ายต้องเสียค่าใช้จ่ายมากถึง 12,000 คน หรือคิดเป็นเงินรวมประมาณ 36 ล้านบาท
สำหรับคดีนี้ นับว่าเป็นเพียงจุดเริ่มต้นของการสอบสวนผู้กระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ เพราะหลังจากนี้ ดีเอสไอและพนักงานอัยการสำนักงานอัยการสูงสุด จะต้องส่งต่อสำนวนการสอบสวนให้กับ ป.ป.ช. ดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป แต่ในข้อกล่าวหาที่ว่า กระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการที่ได้กล่าวหากับ 2 อดีตรัฐมนตรี และ 2 ผู้บริหารระดับสูงกระทรวงแรงงาน ถือว่าหนักพอสมควร
โดยความผิดอาญามาตรา 149 คือ ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน สมาชิกสภานิติบัญญัติ เรียก รับ หรือยอมจะรับทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดสำหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงยี่สิบปี หรือจำคุกตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงสี่แสนบาท หรือประหารชีวิต มาตรา 157 เป็นเจ้าพนักงาน ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ โทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี หรือปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสองแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ส่วนมาตรา 83 ว่ากันด้วยเรื่อง “ตัวการ” ได้บัญญัติว่า “ในกรณีความผิดใดเกิดขึ้นโดยการกระทำของบุคคลตั้งแต่สองคนขึ้นไป ผู้ที่ได้ร่วมกระทำความผิดด้วยกันนั้นเป็นตัวการ ต้องระวางโทษตามที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น” คำว่า “ตัวการต้องระวางโทษตามที่กฎหมายกำหนดไว้” หมายความว่า ตัวการแต่ละคนต้องรับโทษตามที่กฎหมายกำหนด ซึ่งแต่ละคนอาจจะได้รับโทษ เท่ากันจริง ๆ ก็ได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับพฤติการณ์และการกระทำของแต่ละคนซึ่งจะอยู่ในดุลพินิจของศาล ขณะที่ มาตรา 86 เรื่องของการ “สนับสนุน” ระบุไว้ว่า “ผู้ใดกระทำการอันเป็นการช่วยเหลือ หรือให้ความสะดวกในการกระทำผิด แม้ผู้กระทำความผิดไม่ได้รู้ถึงการช่วยเหลือหรือให้ความสะดวก ผู้สนับสนุนต้องได้รับโทษสองในสามส่วน ของโทษที่กำหนดไว้สำหรับผู้กระทำความผิด
ด้านพันตำรวจเอกทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ยืนยันคดีนี้เจ้าหน้าที่มีหลักฐานชัดว่า 4 ผู้ถูกกล่าวหา เรียกเก็บค่าหัวคิว และลอยแพแรงงาน โดยหลักฐานที่ได้เป็นเส้นทางการเงินที่ส่วนใหญ่ได้รับจากตำรวจฟินแลนด์ ส่วนผู้ร้องยังมีทั้งจากคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน และแรงงานที่ชัยภูมิ.-สำนักข่าวไทย