กรุงเทพฯ 6 ต.ค. – 99 นักวิชาการ นักเศรษฐศาสตร์ ออกแถลงการณ์คัดค้านเงินดิจิทัลวอลเล็ต มองเป็นนโยบาย “ได้ไม่คุ้มเสีย” ยก 8 เหตุผลหลัก เศรษฐกิจไทยเริ่มฟื้นตัว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า 99 นักวิชาการ นักเศรษฐศาสตร์ ในระดับแนวหน้าของไทย ได้ร่วมลงชื่อออกแถลงการณ์ร่วม เรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิก “นโยบายแจกเงิน digital 10,000 บาท” เพราะเป็นนโยบาย “ได้ไม่คุ้มเสีย” ผู้ร่วมลงชื่อ อาทิเช่น ดร.วิรไท สันติประภพ อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย, ดร.ธาริษา วัฒนเกส อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย, รศ.ดร.อัจนา ไวความดี อดีตรองผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย, รศ.ดร.สิริลักษณา คอมันตร์ อดีตคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์, ดร.บัณฑิต นิจถาวร อดีตรองผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย, รศ.ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์, ศ.ดร.พรายพล คุ้มทรัพย์ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์, ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร ทีดีอาร์ไอ
โดยแจ้งเหตุผลดังต่อไปนี้ 1) เศรษฐกิจกำลังอยู่ในภาวะฟื้นตัว โดยสำนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดว่า เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวประมาณร้อยละ 2.8 ในปี 66 และขยายตัวร้อยละ 3.5 ในปี 67 จึงไม่มีความจำเป็นต้องใช้จ่ายเงินจำนวนมากเพื่อกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยที่ผ่านมา มีการบริโภคส่วนบุคคลเป็นตัวจักรสำคัญ ในไตรมาส 2 ของปีนี้ การบริโภคขยายตัวถึงร้อยละ 7.3 นับว่าสูงสุดในรอบ 20 ปี สูงกว่า 2 เท่าของค่าเฉลี่ย 10 ปี คาดว่าปีนี้ทั้งปีจะขยายตัวร้อยละ 6.1 และ 4.6 ในปีหน้า จึงไม่มีความจำเป็นต้องกระตุ้นการบริโภคส่วนบุคคล แต่ควรเน้นการใช้จ่ายของภาครัฐ เพื่อสร้างศักยภาพในการลงทุนและการส่งออก นอกจากนี้ การกระตุ้นการใช้จ่ายภายในประเทศ อาจทำให้เกิดเงินเฟ้อสูงขึ้นมาอีก หลังจากเงินเฟ้อได้ลดลงจากร้อยละ 6.1 มาอยู่ที่ร้อยละ 2.9 ในปีนี้ ท่ามกลางราคาพลังงานมีแนวโน้มสูงขึ้นในระยะหลัง การกระตุ้นการบริโภคช่วงนี้ อาจทำให้เงินเฟ้อคาดการณ์ (inflationexpectation) สูงขึ้น นำไปสู่สภาวะขึ้นดอกเบี้ยในที่สุด
2) เงินงบประมาณของรัฐมีจำกัด ย่อมมีค่าเสียโอกาส การใช้เงินจำนวนมากถึง 560,000 ล้านบาท อาจทำให้รัฐเสียโอกาสการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน ในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ในการสร้าง digital infrastructure หรือการบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบ เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ล้วนสร้างศักยภาพในการเจริญเดิบโตในระยะยาว แทนการใช้เงินเพื่อการกระตุ้นการบริโภคระยะสั้นๆ ซึ่งไม่สมเหตุสมผลต่อการสร้างภาระหนี้สาธารณะให้เป็นภาระแก่คนรุ่นต่อไป ค่าเสียโอกาสสำคัญคือการใช้เงินสร้างงานเพื่อสร้างรายได้ให้ประชาชน
3) การกระตุ้นเศรษฐกิจให้รายได้ประชาชาติ (GDP) ขยายตัว โดยรัฐแจกเงิน 560,000 ล้านบาท เข้าไปในระบบ เป็นการคาดหวังเกินจริง เพราะปัจจุบันข้อมูลเชิงประจักษ์จากงานวิจัยทำให้นักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่เชื่อว่า ตัวทวีคูณทางการคลัง (fiscal multiplier) ที่เกิดจากการใช้จ่ายของรัฐในลักษณะเงินโอนหรือการแจกเงิน มีค่าต่ำกว่า 1 และต่ำกว่าตัวทวีคูณทางการคลัง สำหรับการใช้จ่ายโดยตรงและการลงทุนของภาครัฐ
ผู้กำหนดนโยบายหวังว่านโยบายนี้จะกระตุ้นเศรษฐกิจ จึงเป็นสิ่งเลื่อนลอย ไม่มีใครเสกเงินได้ ไม่มีเงินงอกจากต้นไม้ ไม่มีเงินที่ลอยมาจากฟ้า ไม่ว่าจะแอบซ่อนมาในรูปใดก็ตาม สุดท้ายประชาชนจะต้องจ่ายคืนเสมอ ไม่ว่าจะเป็นลักษณะจ่ายภาษีเพิ่มขึ้น หรือราคาสินค้าแพงขึ้นเพราะเงินเฟ้อ อันเนื่องจากการเพิ่มปริมาณเงิน
4) ในวัฏจักรดอกเบี้ยขาขึ้น เริ่มตั้งแต่ปี 2565 เพราะเงินเฟ้อสูงขึ้นมาก การก่อหนี้จำนวนมาก ไม่ว่ารัฐบาลจะออกพันธบัตร หรือกู้เงินจากรัฐวิสาหกิจ หรือกู้สถาบันการเงินของภาครัฐ ล้วนแต่จะทำให้รัฐบาลและคนทั้งประเทศต้องเผชิญกับอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น หนี้สาธารณะของรัฐ ปัจจุบัน 10.1 ล้านล้านบาท หรือร้อยละ 61.6 ของ GDP ต้องมีภาระจ่ายดอกเบี้ยสูงขึ้นในยามที่ต้องชำระคืนหรือกู้ใหม่ จึงมีผลต่อภาระเงินงบประมาณของรัฐในแต่ละปี โดยยังไม่นับเงินค่าดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นจากการแจกเงินดิจิทัล คนละ 10,000 บาทนี้ด้วย
5) ในช่วงที่โลกเผชิญกับวิกฤติโรคระบาดและภาวะเศรษฐกิจถดถอย รัฐบาลแทบทุกประเทศต่างจำเป็นต้องการขาดดุลการคลังและสร้างหนี้จำนวนมาก เพื่อใช้จ่ายทางด้านสาธารณสุข กระตุ้นเศรษฐกิจ และเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 และภาวะเศรษฐกิจถดถอย หลายประเทศได้แสดงเจตนารมณ์ที่ฉลาดรอบคอบ โดยลดการขาดดุลภาครัฐและหนี้สาธารณะลง (fiscal consolidation) เพื่อสร้าง ‘พื้นที่ว่างทางการคลัง’ (fiscal space) เอาไว้รองรับวิกฤติเศรษฐกิจในอนาคต
นโยบายแจกเงิน digital 10,000 บาท ดูจะสวนทางกับสิ่งที่ควรจะเป็น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประเทศไทยมีอัตราส่วนรายรับจากภาษี เพียงร้อยละ 13.7 ของรายได้ประชาชาติ (GDP) ถือว่าต่ำกว่าประเทศอื่นๆ มาก การทำนโยบายการคลังโดยไม่รอบคอบระมัดระวัง และไม่คำนึงถึงผลเสียที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ยังจะส่งผลต่ออันดับความน่าเชื่อถือ (creditrating) ของประเทศ ซึ่งจะทำให้ต้นทุนการกู้เงินของทั้งภาครัฐบาลและภาคเอกชนไทยสูงขึ้นกว่าที่ควรจะเป็นด้วย
6) การแจกเงินคนละ 10,000 บาท ให้ทุกคนที่อายุเกิน 16 ปี เป็นนโยบายที่สร้างความไม่เป็นธรรมในสังคมอย่างยิ่ง เศรษฐีและมหาเศรษฐี ที่อายุเกิน 16 ปี ล้วนได้รับเงินช่วยเหลือ ทั้งๆ ที่ไม่มีความจำเป็น
7) เมื่อประเทศเข้าสู่สังคมสูงวัยเช่นประเทศไทย การเตรียมตัวทางด้านการคลังเป็นสิ่งจำเป็น ขณะที่จำนวนคนในวัยทำงานลดลง แต่สัดส่วนผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ภาระการใช้จ่ายทางด้านสวัสดิการและสาธารณสุขจะเพิ่มขึ้นอย่างมาก ผู้บริหารประเทศที่มองการณ์ไกลจึงควรใช้งบประมาณอย่างคุ้มค่า และรักษาวินัยและเสถียรภาพทางด้านการคลังอย่างเคร่งครัด ด้วยเหตุผลต่างๆ ข้างต้น
8) ระบบ blockchain ปกติ ต้องทำการตรวจสอบความถูกต้องของทุกธุรกรรม โดยผู้ใช้ทุกคนที่เกี่ยวข้อง ข้อดีคือทำให้ไม่สามารถฉ้อฉลข้อมูลได้ ขณะเดียวกัน เป็นจุดตายของระบบด้วย เพราะแต่ละธุรกรรมจะต้องใช้เวลาเฉลี่ยในการตรวจสอบ 1-1.5 ชั่วโมงต่อธุรกรรม ยิ่งใช้เวลามากขึ้นเมื่อจำนวนธุรกรรมและผู้ใช้เพิ่มขึ้น เวลาที่ใช้ก็จะยิ่งเพิ่มเป็นทวีคูณ จึงแทบจะเป็นไปไม่ได้ในการเอามาใช้กับระบบซื้อขายตามปกติ
ด้วยเหตุผลต่างๆ ข้างต้น บรรดานักวิชาการและคณาจารย์เศรษฐศาสตร์ จึงขอให้รัฐบาลยกเลิก “นโยบายแจกเงิน digital 10,000 บาท” แก่ผู้มีอายุ 16 ปีขึ้นไป เพราะประโยชน์ที่ประเทศจะได้น้อยกว่าต้นทุนที่เสียไปอย่างมาก. – สำนักข่าวไทย