ทำเนียบฯ 18 เม.ย. – อาลัย ศาสตราจารย์พิเศษ “อำนวย วีรวรรณ” อดีตขุนคลัง ร่วมฝ่าวิกฤติต้มยำกุ้ง ลอยตัวค่าเงินบาท
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายอำนวย วีรวรรณ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ปี 2523-2524 ในสมัยรัฐบาล พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี สมัยรัฐบาลนายชวน หลีกภัย และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ถึงแก่อนิจกรรม วันที่ 18 เมษายน 2566 เมื่อเวลา 14.30 น. ด้วยโรคปอดอักเสบติดเชื้อ สิริอายุ 90 ปี
ศาสตราจารย์พิเศษ อำนวย วีรวรรณ รับราชการในกระทรวงการคลัง อธิบดีกรมศุลกากร และเป็นปลัดกระทรวงการคลังคนแรกที่สำเร็จการศึกษาปริญญาเอก ในปี พ.ศ. 2518 ด้วยอายุเพียง 43 ปี และดำรงตำแหน่งสำคัญ อาทิ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI)
นายอำนวย วีรวรรณ ได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็น ศาสตราจารย์พิเศษ สาขาวิชาบริหารธุรกิจ คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ตั้งแต่วันที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2537 ประธานกิตติมศักดิ์ บริษัท เอเซียเสริมกิจลีสซิ่ง จำกัด (มหาชน) อดีตหัวหน้าพรรคนำไทย และพรรคมวลชน อดีตรองหัวหน้าพรรคความหวังใหม่ เป็นบิดาของนายถกลเกียรติ วีรวรรณ ผู้บริหารสถานีโทรทัศน์ ช่อง ONE ศาลมีคำสั่งเป็นบุคคลไร้ความสามารถ เนื่องจากประสบอุบัติเหตุหกล้ม ที่ประเทศเนเธอร์แลนด์
นายอำนวย วีรวรรณ เกิดเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2475 (90 ปี) สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาจากโรงเรียนอัสสัมชัญ (อสช 12677) ปริญญาตรี พาณิชยศาสตรบัณฑิต จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปริญญาโทบริหารธุรกิจมหาบัณฑิต เศรษฐศาสตรมหาบัณฑิต และปริญญาเอก ด้านการบริหารธุรกิจ ทั้ง 3 ปริญญาจากมหาวิทยาลัยมิชิแกน
ลำดับเหตุการณ์วิกฤติเศรษฐกิจไทยปี 2540 เริ่มจากเดือนมกราคม 2540 เมฆหมอกแห่งวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจของไทยเริ่มตั้งเค้า เมื่อค่าเงินบาทถูกนักเก็งกำไรแสวงประโยชน์โดยการเทขายอย่างรุนแรงเป็นครั้งแรก นักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ ขาดความเชื่อถือรัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ เนื่องจากค่าของเงินบาทอ่อนค่าลงมาก ในช่วงวันที่ 9-16 พฤษภาคม การโจมตีค่าเงินบาท อย่างธนาคารแห่งประเทศไทยต้องนำทุนสำรองเข้าแทรกแซงเพื่อพยุงค่าเงินบาทในตลาดทันที (Spot Market) ถึง 6.08 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ยอดเงินสำรองทางการ 3.66 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ เหลือเพียง 1.77 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐเท่านั้น
เมื่อรัฐบาลไม่อาจจะรักษาค่าของเงินบาทให้มีเสถียรภาพต่อไปได้อีก ในวันที่ 1 กรกฎาคม 2540 นายเริงชัย มะระกานนท์ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยในขณะนั้น พร้อมด้วยนายชัยวัฒน์ วิบูลย์สวัสดิ์ รองผู้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทย เข้าพบ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตนายกรัฐมนตรี เพื่อรายงานสถานการณ์ จากนั้นได้ตัดสินใจปล่อยให้ค่าเงินบาทลอยตัว ในวันที่ 2 กรกฎาคม 2540 รัฐบาลได้เปลี่ยนแปลงระบบอัตราแลกเปลี่ยนจากระบบตะกร้าเงินมาเป็นแบบลอยตัว ค่าเงินบาทหล่นวูบลงมาอยู่ที่ 30 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ จนต้องกู้เงินจากกองทุนไอเอ็มเอฟ และเป็นสาเหตุแห่งการลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ในเวลาต่อมา. – สำนักข่าวไทย