กรุงเทพฯ 7 มี.ค.- อธิบดีกรมชลประทาน ขอความร่วมมือเกษตรกรไม่ทำนาปรังครั้งที่ 2 ย้ำจำเป็นต้องส่งน้ำฤดูแล้งให้ตรงความต้องการของพืชและการใช้ในกิจกรรมต่างๆ ตามมาตรการ “บริหารจัดการน้ำแบบประณีต” เหตุกรมอุตุฯ คาดฝนทิ้งช่วงเดือน มิ.ย.-ก.ค. ซ้ำปรากฏการณ์เอลนีโญจะทำให้ฝนปลายปีน้อย โดยลุ่มเจ้าพระยาจะทยอยปรับลดการส่งน้ำหลังเกษตรกรเก็บเกี่ยวข้าวนาปรัง
นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า สั่งการให้โครงการชลประทานทั่วประเทศปฏิบัติตามมาตรการ “บริหารจัดการน้ำแบบประณีต” อย่างเข้มงวด โดยตลอดฤดูแล้งจะต้องส่งน้ำให้สอดคล้องกับความต้องการใช้น้ำของพืชที่ปลูกในแต่ละพื้นที่ รวมถึงสอดคล้องกับความต้องการใช้น้ำในกิจกรรมต่างๆ เนื่องจากกรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ว่า เมื่อเข้าสู่ฤดูฝนกลางเดือนพฤษภาคมแล้ว ต่อมาในเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม อาจเกิดภาวะฝนทิ้งช่วง จากนั้นช่วงกลางปี ปรากฏการณ์เอนโซ ซึ่งเกิดภาวะลานีญาในขณะนี้ จะพลิกผันเป็นเอลนีโญกำลังอ่อน ส่งผลให้ปริมาณฝนช่วงปลายฤดูน้อยกว่าค่าปกติร้อยละ 5-10
นอกจากนี้ยังให้เร่งประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกรงดทำนาปรังต่อเนื่อง เมื่อเก็บเกี่ยวนาปรังครั้งที่ 1 แล้ว ไม่ปลูกข้าวต่อ จนกว่าจะถึงฤดูฝน โดยในลุ่มเจ้าพระยาจะทยอยปรับลดการส่งน้ำหลังเกษตรกรเก็บเกี่ยวข้าวนาปรังแล้ว แต่ยืนยันว่า จะจัดสรรน้ำให้เพียงพอต่อทุกกิจกรรม ทั้งการอุปโภคบริโภค รักษาระบบนิเวศ ภาคเกษตร และภาคอุตสาหกรรม รวมถึงสำรองไว้หากเกิดฝนทิ้งช่วงตามที่กรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์แล้ว
ปัจจุบันอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำรวมกันประมาณ 52,455 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 69 ของความจุอ่างฯ รวมกัน เฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกันประมาณ 16,246 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 65 ของความจุอ่างฯ รวมกัน ในขณะที่มีการใช้น้ำทั้งประเทศไปแล้วกว่า 6,980 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 62 ของแผนฯ (แผนจัดสรรน้ำทั้งประเทศ 27,685 ล้าน ลบ.ม.) เฉพาะลุ่มเจ้าพระยามีการใช้น้ำไปแล้วประมาณ 6,091 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 67 ของแผนฯ (แผนจัดสรรน้ำลุ่มเจ้าพระยา 9,100 ล้าน ลบ.ม.) สำหรับการเพาะปลูกข้าวนาปรังทั้งประเทศ มีการเพาะปลูกไปแล้ว 9.85 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 89 ของแผนฯ เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยามีการเพาะปลูกไปแล้ว 6.36 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 94 ของแผนฯ
ทั้งนี้ ได้กำชับไปยังโครงการชลประทานทั่วประเทศ ให้ติดตามสภาพอากาศและแนวโน้มปริมาณฝนอย่างใกล้ชิด เพื่อนำมาวิเคราะห์ในการบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องกับสถานการณ์ ที่สำคัญตรวจสอบอาคารชลประทาน ให้พร้อมใช้งานได้อย่างเต็มศักยภาพ หมั่นกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง รวมทั้งขอความร่วมมือจากทุกภาคส่วนร่วมรณรงค์การใช้น้ำอย่างประหยัด เพื่อให้การบริหารจัดการน้ำเป็นไปตามแผนที่กำหนด และให้ปริมาณน้ำที่มีอยู่เพียงพอใช้ตลอดทั้งปี.-สำนักข่าวไทย