นนทบุรี 17 พ.ย. – อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา เผยโฉม 8 สินค้า GI ขึ้นเวทีเอเปค 2022 ซอฟต์พาวเวอร์นำอัตลักษณ์พื้นถิ่นไทยสู่สายตาชาวโลก พร้อมสร้างโอกาสกระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก กระจายรายได้เข้าสู่ชุมชน
กรมทรัพย์สินทางปัญญายกขบวนสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) จากชุมชนท้องถิ่นต่างๆ ของไทย ร่วมต้อนรับสุดยอดผู้นำในการประชุมเอเปค 2022 ที่ไทยเป็นเจ้าภาพในขณะนี้ นับเป็นซอฟต์พาวเวอร์สำคัญที่ช่วยถ่ายทอดอัตลักษณ์ความเป็นไทยสู่ระดับนานาชาติ ตั้งเป้าขยายผลส่งเสริมสินค้า GI ไทยให้เป็นที่รู้จักในวงกว้าง สร้างโอกาสทางการค้าทั้งในและต่างประเทศ และสร้างรายได้ให้เกษตรกรและผู้ประกอบการท้องถิ่นอย่างยั่งยืน
นายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา กล่าวว่า การที่ประเทศไทยได้รับเกียรติให้เป็นเจ้าภาพการประชุมเอเปคครั้งนี้ นับเป็นอีกหนึ่งโอกาสสำคัญในการเผยแพร่อัตลักษณ์และคุณภาพของสินค้า GI ไทยให้เป็นที่รู้จักในระดับนานาชาติ โดยเฉพาะผู้นำจาก 21 เขตเศรษฐกิจ ซึ่งรัฐบาลได้คัดเลือกสินค้า GI เข้ามามีส่วนร่วมในการประชุมดังกล่าวเพื่อนำเสนออัตลักษณ์ความเป็นไทย ผ่านเมนูอาหารที่อาศัยวัตถุดิบ GI ประกอบด้วย ข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ ของจังหวัดศรีสะเกษ ร้อยเอ็ด ยโสธร สุรินทร์ และมหาสารคาม เนื้อโคขุนโพนยางคำ จังหวัดสกลนคร ปลากุเลาเค็มตากใบ จังหวัดนราธิวาส ไวน์เขาใหญ่ จังหวัดนครราชสีมา ส้มโอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม ไข่เค็มไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี และว่าที่สินค้า GI กล้วยหอมทองพบพระ จังหวัดตาก

นอกจากนี้ ได้นำผ้าไหมปักธงชัย จังหวัดนครราชสีมา มาทอเป็นของที่ระลึกแก่ผู้นำเอเปค เช่น เนกไท ผ้าคลุมไหล่ ฯลฯ นำมาซึ่งความภาคภูมิใจของเกษตรกรและผู้ประกอบการท้องถิ่นที่ได้มีส่วนร่วมเป็นเจ้าภาพต้อนรับ 21 ผู้นำเขตเศรษฐกิจจากทั่วโลก อีกทั้งยังช่วยสร้างโอกาสทางการค้า กระตุ้นยอดขายและสร้างรายได้รับการเปิดประเทศอย่างแท้จริง โดยสินค้า GI ทั้ง 8 รายการ ล้วนเป็นสินค้าที่มีชื่อเสียงและเป็นที่ยอมรับของผู้บริโภค
ที่ผ่านมาสร้างเม็ดเงินเข้าสู่ชุมชนท้องถิ่นรวมกว่า 820 ล้านบาทต่อปี ซึ่งกรมทรัพย์สินทางปัญญาและหน่วยงานพันธมิตร พร้อมเดินหน้าส่งเสริมสินค้า GI โดยเฉพาะการขึ้นทะเบียนในต่างประเทศ เพื่อให้สินค้าไทยได้รับการคุ้มครองในตลาดการค้าที่สำคัญ รวมทั้งสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าชุมชน และขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากให้เติบโตอย่างยั่งยืนต่อไป .-สำนักข่าวไทย