ภูเก็ต 17 พ.ย. – “กุ้งมังกร 7 สี” หนึ่งในสัตว์น้ำเศรษฐกิจของภาคใต้ ได้รับเลือกเป็นวัตถุดิบเมนูสุดพิเศษต้อนรับผู้นำเขตเศรษฐกิจ โดยเชฟระดับมิชลินสตาร์ คาดจะช่วยให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น และช่วยส่งเสริมท่องเที่ยวภูเก็ต
“กระชังโกปานป่าหล่าย” ต.ฉลอง อ.เมืองภูเก็ต เป็น 1 ใน 15 ผู้ประกอบการเลี้ยงกุ้งมังกร 7 สี และเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในทะเลในกระชัง และกุ้งมังกร 7 สี ที่เลี้ยงกันในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต ถือเป็น Signature ของชุมชน และยิ่งได้รับความสนใจมากขึ้น หลังจากได้รับเลือกเป็นหนึ่งในวัตถุดิบเมนูสุดพิเศษ โดยเชฟระดับมิชลินสตาร์ในงานเลี้ยงอาหารค่ำ หรือ Gala Dinner ผู้นำเขตเศรษฐกิจที่เข้าร่วมประชุมเอเปค ครั้งที่ 29 ซึ่งไทยเป็นเจ้าภาพ ในวันที่ 17 พฤศจิกายนนี้
สำหรับกุ้งมังกร 7 สี ภูเก็ต หรือ PHUKET LOBSTER ซึ่งเชฟระดับโลกเรียกว่า ฟัวกราส์แห่งท้องทะเล วัตถุดิบชั้นเลิศในน่านน้ำภูเก็ต ถือเป็นหนึ่งในสัตว์น้ำเศรษฐกิจของจังหวัดภูเก็ต ส่วนใหญ่จะเป็นที่นิยมในกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติ ด้วยราคาที่ค่อนข้างสูง มีลักษณะเด่นชัด แตกต่างจากกุ้งมังกรสายพันธุ์อื่น คือ สีสันตลอดลำตัว ส่วนหัวสีเหลือง ลำตัวสีออกเขียวใส โคนหนวดมีสีชมพู แถบสีขาวและดำ พาดขวางลำตัว ขอบท้ายของปล้องท้องมีลายสีครีม หนวดของกุ้งมังกร 7 สี ภูเก็ต เรียวยาวและไม่มีก้ามปล้อง ท้องเรียบ ไม่มีร่องขวางกลาง หางมีลักษณะแผ่เป็นหางพัด มีกระดองบาง ทำให้เนื้อเยอะกว่าสายพันธุ์อื่น แน่น หวาน เวลาเคี้ยวเนื้อจะนุ่ม ไม่ยุ่ยเละ ทำได้หลายเมนู รวมทั้งกินสดอย่างซาซิมิ หรือย่าง อบ ศาสตร์การแพทย์แผนจีนยังยกให้กุ้งมังกร 7 สี ภูเก็ต เป็นสุดยอดอาหารประเภทหยาง โดยเฉพาะเลือดที่ช่วยปรับสมดุลบำรุงไตและหัวใจ จนได้รับความนิยม ซึ่งตัวขนาดกำลังรับประทานหนักประมาณ 700-800 กรัม แต่หากโตมากกว่านั้นรสชาติจะยิ่งอร่อย
นายปวริศน์ ราชรักษ์ หรือโกปาน เจ้าของแพโกปานป่าหล่าย และเป็นหนึ่งในผู้เพาะเลี้ยงปลาและกุ้งมังกร 7 สี ในกระชัง กล่าวว่า กุ้งมังกร 7 สี ที่เลี้ยงกันในจังหวัดภูเก็ต ถือเป็น Signature ทำให้มีราคาค่อนข้างราคาสูง แต่ขึ้นอยู่กับขนาดด้วย โดยกุ้งมังกร 7 สี แต่ยังไม่ได้เป็นสินค้า GI สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ เนื่องจากปัจจุบันยังไม่สามารถผลิตลูกพันธุ์กุ้งมังกรได้ในระบบโรงเพาะฟัก ต้องพึ่งพาการรวบรวมลูกพันธุ์ในธรรมชาติ ซึ่งมีจำนวนลดลง ทำให้การวางแผนการเลี้ยงกุ้งมังกรยังไม่แน่นอน ยังควบคุมไม่ได้เหมือนการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำเศรษฐกิจชนิดอื่นๆ การได้รับเลือกให้เป็นวัตถุดิบเมนูสำหรับผู้นำเขตเศรษฐกิจ ถือเป็นความภาคภูมิใจของชาวภูเก็ตเป็นอย่างมาก เพราะจะส่งผลดีกับการท่องเที่ยวและธุรกิจอาหารในพื้นที่อย่างแน่นอน
นายเริงฤทธิ์ ศิลป์สมศรี เชฟร้านอาหารบ้านกุ้งมังกร เผยจากจุดเด่นของกุ้งมังกร คือ มีขนาดใหญ่ เนื้อค่อนข้างมาก รวมถึงคุณภาพอันดับหนึ่ง ถือเป็นอาหารชั้นเลิศในการนำขึ้นโต๊ะอาหาร ปัจจุบันความนิยมมีเพิ่มมากขึ้น จนทำให้ราคาเพิ่มตามไปด้วย โดยเมนูเด่นๆ ที่นิยม คือ ซาเซมิ หรืออบชีส หรือหากต้องการรสจัดจ้าน จะเป็นเมนูอบพริกเกลือ ซึ่งการได้รับเลือกเป็นวัตถุดิบของเมนูขึ้นโต๊ะเสิร์ฟให้กับผู้นำเขตเศรษฐกิจรู้สึกภูมิใจ และเชื่อว่าจะเป็นส่วนหนึ่งในการยกระดับการท่องเที่ยวของภูเก็ตด้วย
ปัจจุบันการเลี้ยงกุ้งมังกรในจังหวัดภูเก็ต อยู่ในพื้นที่ 2 อำเภอ คือ อำเภอเมือง และถลาง มีผู้ประกอบการประมาณ 15 ราย เลี้ยงกุ้งมังกร 7 สี มากที่สุด เพราะเป็นที่ต้องการของตลาด เลี้ยงง่าย ได้ราคาดีกว่ากุ้งมังกรเลน ใช้เวลาเลี้ยง 7-8 เดือน จะได้กุ้งขนาด 800-1,000 กรัม .-สำนักข่าวไทย