ภูมิภาค 22 ก.ย.- แม่น้ำมูลขึ้นสูง ส่งผลให้คันกั้นน้ำแตก บริเวณแนวฟันหลอในเทศบาลเมืองวารินชำราบ จ.อุบลราชธานี น้ำไหลทะลักท่วมหลายชุมชน ชาวบ้านต้องอพยพไปอยู่ในศูนย์พักพิง ส่วนที่บุรีรัมย์น้ำท่วมนาข้าว ชาวนาต้องใช้กะละมังลอยคอเกี่ยวข้าวก่อนเน่าเสีย เช่นเดียวกับที่ขอนแก่น ทหารลุยน้ำช่วยชาวนาเกี่ยวข้าว
ชาวชุมชนหาดสวนสุข หาดสวนยา ท่าก่อไผ่ ดอนงิ้ว ท่าบ้งมั่ง ในเทศบาลเมืองวารินชำราบ จ.อุบลราชธานี พากันอพยพหนีแม่น้ำมูลที่ขึ้นสูง จนน้ำไหลข้ามแนวคันกั้นน้ำไหลท่วมบ้านสูงเฉลี่ย 40-60 เซนติเมตร มาอยู่ในศูนย์พักพิงชั่วคราวกระจายอยู่ตามจุดต่างๆ กว่า 740 คน นางลัดดาวัลย์ ชาวชุมชนหาดสวนสุขที่อพยพหนีน้ำเมื่อคืนที่ผ่านมา เล่าถึงความเดือดร้อน ต้องอาศัยอยู่ใต้ถุนวัด เพราะยังไม่ได้เต็นท์
ชาวนาบุรีรัมย์ใช้กะละมังลอยคอเกี่ยวข้าวก่อนเน่าเสีย
ขณะที่ชาวนาบ้านวังปลัด ต.บ้านแพ อ.คูเมือง จ.บุรีรัมย์ กำลังประสบปัญหาเดือดร้อนหนักจากน้ำมูลที่เอ่อท่วมนาข้าว ต้องจ้างชาวบ้านในหมู่บ้าน นำกะละมังลอยคอเกี่ยวข้าวในนาที่ถูกน้ำเอ่อท่วมสูงกว่า 1 เมตร แม้ข้าวจะยังไม่สุกเต็มที่ แต่ก็จำเป็นต้องเกี่ยวหนีน้ำ เพราะหากปล่อยไว้เกรงว่าจะจมน้ำเน่าเสียหาย เนื่องจากขณะนี้น้ำมูลหนุนสูงขึ้นอย่างรวดเร็วจากมวลน้ำเหนือที่ไหลมาจาก จ.นครราชสีมา หลากเข้าท่วมพื้นที่การเกษตรเป็นวงกว้าง
นายพิรัช นพพิบูลย์ ชาวนาบ้านวังปลัด บอกว่า แค่ 2 วันถูกน้ำมูลเอ่อเข้าท่วมสูงกว่า 1 เมตร จึงจำเป็นต้องจ้างชาวบ้านในหมู่บ้านมาช่วยเก็บเกี่ยวข้าว แม้จะยังไม่สุกเต็มที่ก็ตาม โดยต้องจ่ายค่าจ้างคนละ 300 บาท/วัน
ทหารลุยน้ำช่วยชาวนาขอนแก่นเกี่ยวข้าวหนีน้ำท่วม
ที่ จ.ขอนแก่น ก็เช่นกัน จากสถานการณ์ฝนตกหนักในพื้นที่ และมวลน้ำจากแม่น้ำชีได้เพิ่มระดับสูงขึ้น ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และน้ำเอ่อล้นตลิ่งพื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำในพื้นที่หลายอำเภอ อ.บ้านแฮด เป็นอีกอำเภอหนึ่งที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์น้ำท่วมพืชผลทางการเกษตร โดยเฉพาะพื้นที่นาข้าวที่กำลังแก่จัดพร้อมสำหรับการเก็บเกี่ยว ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 23 ต้องนำกำลังกว่า 30 นาย พร้อมเรือท้องแบน ลงพื้นที่ให้ความช่วยเหลือประชาชนในการเกี่ยวข้าวที่โดนน้ำท่วม
อ่างทองเร่งปักเสาเข็มเสริมแนวรับมือน้ำเจ้าพระยา
ขณะที่ในพื้นที่ภาคกลาง เขื่อนเจ้าพระยาแจ้งเตือนการปล่อยน้ำเพิ่มในอัตรา 1950-2000 ลบ.ม./วินาที และจะคงอัตราดังกล่าวจนกว่าจะมีการเปลี่ยนแปลง โดยขณะนี้เขื่อนเจ้าพระยาที่ จ.ชัยนาท ระบายน้ำอยู่ที่ 1989 ลบ.ม./วินาที น้ำเหนือเขื่อน 16.67 เมตร ท้ายเขื่อน 14.45 เมตร ทำให้ระดับน้ำที่สถานีชลมาตร หน้าศาลากลางจังหวัดอ่างทอง อยู่ที่ 7.90 เมตร
เจ้าหน้าที่องค์การบริหารส่วนตำบลเทวราช อ.ไชโย จ.อ่างทอง เร่งนำรถแบ็กโฮและเสาเข็มไม้สนหลายร้อยต้นสร้างแนวป้องกันตลิ่งทรุดตัวยาวกว่า 300 เมตร ปักแนวบริเวณตลิ่งริมแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งอยู่ระหว่างการก่อสร้างเขื่อนเรียงหิน เพื่อป้องกันคันดินเกิดการทรุดตัว และน้ำจะเข้าท่วมบ้านเรือนประชาชน จากระดับน้ำที่คาดว่าจะเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะที่มีรายงานว่าน้ำเข้าท่วมบ้านเรือนประชาชนในพื้นที่ลุ่มต่ำนอกแนวคันกั้นน้ำแล้วหลายตำบล ซึ่งทางจังหวัดเตรียมความพร้อมในการรับมือและแจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่เฝ้าติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด.-สำนักข่าวไทย