กรุงเทพฯ 31 มี.ค.-หลังจากที่ประชุม ครม.มีมติให้การเจ็บป่วยฉุกเฉินรักษาฟรีทุกสิทธิ ภายใน 72 ชั่วโมง ซึ่งมีผลบังคับใช้ทันที 1 เมษายนนี้ มติ ครม.ดังกล่าว ช่วยเพิ่มโอกาสการรอดชีวิต และลดอัตราพิการ
ความพยายามให้ผู้ป่วยฉุกเฉินรับการรักษารวดเร็ว เพื่อโอกาสรอดชีวิต ลดความพิการ หนึ่งในนั้นคือการปลดล็อกเรื่องค่าใช้จ่าย ไม่ให้เป็นข้อจำกัด หรืออุปสรรคกีดขวาง ทั้งการรักษาในเอกชน หรือรัฐ ซึ่งกระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับ 3 กองทุนสุขภาพ ทั้งสวัสดิการราชการ ประกันสังคม หลักประกันสุขภาพ โรงเรียนแพทย์ สมาคมโรงพยาบาลเอกชน วางหลักเกณฑ์ จัดตั้งศูนย์ประสานงานคุ้มครองผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤติ เพื่อนิยามฉุกเฉิน รักษาฟรี รวดเร็ว มีประสิทธิภาพ เพราะ 72 ชั่วโมง หรือ 3 วัน คือเงื่อนเวลาสำคัญของภาวะวิกฤติของร่างกาย
เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤติ คือ ต้องมีอาการหมดสติ ไม่รู้สึกตัว หายใจเหนื่อยหอบ ติดขัด เหงื่อแตก ตัวเย็น หรือแขนขาอ่อนแรงครึ่งซีก พูดไม่ชัด หรือมีระบบหมุนเวียนเลือดผิดปกติ ที่ผู้ป่วยและญาติต้องเข้าใจตรงกัน โดยแพทย์ฉุกเฉินประจำโรงพยาบาลจะวินิจฉัยภายใน 15 นาที หากคลุมเครือต้องสอบถามไปยังศูนย์ประสานคุ้มครองผู้ป่วยฯ เพื่อขอคำวินิจฉัยชี้ขาด
หลังพ้นภาวะวิกฤติ ผู้ป่วยจะถูกส่งต่อไปรักษาในโรงพยาบาลต้นสังกัด โดยระบบจะสานส่งต่อ ทำให้หมดกังวลเรื่องเตียงเต็ม อุปสรรคสำคัญที่ทำให้จำต้องนอนค้างรักษาตัวในโรงพยาบาลนอกสังกัด และค่าใช้จ่ายเพิ่มพอกพูน
แม้รัฐจะออกมาตรการช่วยเหลือให้รักษาฟรีทุกสิทธิ แต่เพราะร่างกายและความเจ็บปวดในแต่ละคนมีขีดจำกัดที่แตกต่าง การสร้างความเข้าใจที่ตรงกัน ว่าวิกฤตฉุกเฉินคืออะไร จึงเป็นสิ่งสำคัญที่สุด เพื่อเข้าถึงการรักษาอย่างรวดเร็ว และลดข้อโต้แย้งระหว่างผู้ป่วยกับแพทย์.-สำนักข่าวไทย