กรุงเทพฯ 31 มี.ค. – สศอ.เผยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเดือนกุมภาพันธ์ลดลงร้อยละ 1.5 แม้ได้รับผลกระทบจากการซ่อมบำรุงประจำปีของโรงกลั่นน้ำมัน คาดแนวโน้มขยายตัว และมีสัญญาณฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย
นายวีรศักดิ์ ศุภประเสริฐ รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) กล่าวว่า แม้ว่าจะได้รับผลกระทบจากการลดการผลิตจากโรงกลั่นน้ำมันปิโตรเลียมที่ซ่อมบำรุงประจำปีจนต้องลดกำลังการผลิตจากเดือนมกราคมถึงร้อยละ 24.32 แต่ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเดือนกุมภาพันธ์ยังคงแสดงความแข็งแกร่งขยับลดลงร้อยละ 1.5 เมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันปีก่อน เมื่อปรับฤดูกาลแล้วจะขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.8 เมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันปีก่อน ดัชนีแรงงานอุตสาหกรรมเพิ่มขี้นร้อยละ 1.1 รวมทั้งภาพรวมอุตสาหกรรมดีขึ้นมากจนทำให้การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม (ไม่รวมทองคำแท่ง) ขยายตัวร้อยละ 2.2 แสดงให้เห็นถึงความแข็งแกร่งและสัญญาณฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย
สำหรับอุตสาหกรรมสำคัญที่ส่งผลบวก ได้แก่ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 15.13 จาก Other IC, Monolithic IC และ Transistors ที่เป็นไปตามแนวโน้มคำสั่งซื้อเซมิคอนดักเตอร์ของตลาดโลกที่เติบโตเพิ่มขึ้น, เหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.76 เป็นผลจากการคลี่คลายปัญหาการดัมพ์ตลาดจากจีนที่ลดลงในเหล็กทรงยาว รวมถึงคำสั่งซื้อของภาครัฐและการซ่อมแซมสาธารณูปโภคและบ้านเรือนที่เสียหายจากภาคใต้ ขณะที่เหล็กทรงแบนเองได้เร่งการผลิตจากการหยุดชั่วคราวในเดือนก่อน โดยได้รับคำสั่งซื้ออย่างต่อเนื่อง , เวชภัณฑ์ยาขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 31.84 เนื่องจากในปีก่อนผู้ผลิตรายใหญ่ได้หยุดปรับปรุงระบบการผลิตใหม่ในช่วงเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ 2559 และการย้ายโรงงานในช่วงปลายปีก่อน รวมทั้งปีนี้มีการเปิดตลาดยาเม็ดได้ใหม่ในประเทศฮ่องกง เกาหลี และญี่ปุ่น ทำให้การผลิตมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น , อาหารทะเลกระป๋องและแช่แข็งได้รับอานิสงส์จากปลาแช่แข็งและปลาหมึกแช่แข็ง เนื่องจากวัตถุดิบที่มีมากขึ้นสอดคล้องกับคำสั่งซื้อที่สูงขึ้น และเนื้อไก่แช่แข็งขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.99 โดยเพิ่มยอดผลิตเพื่อรองรับคำสั่งซื้อที่เข้ามามากขึ้น ทำให้ผู้ผลิตต้องเพิ่มชั่วโมงการทำงานตั้งแต่ช่วงกลางปี 2559 เป็นต้นมา
ส่วนอุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลลบ ได้แก่ รถยนต์ ผลิตภัณฑ์ยางอื่น ๆ เครื่องปรับอากาศและชิ้นส่วน น้ำมันปิโตรเลียม .-สำนักข่าวไทย