ศูนย์ประชุมสหประชาชาติ 31มี.ค.- ไทยจับมือ-UNESCAP จัดการประชุมผู้นำระดับสูงในอาเซียน เพื่อร่วมกำหนดประเด็นการส่งเสริมการบรรลุวิสัยทัศน์ประชาคมอาเซียน 2025 และวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน 2030 ของสหประชาชาติ พร้อมเปิดตัววารสารของ UNOSSC ที่ไทยเป็นประดทศแรกร่วมจัดทำ เผยแพร่หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง นำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (31 มี.ค.) นายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และ นางชามชัด อัคห์ตาร์ เลขาธิการบริหารคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติสำหรับเอเชีย (UNESCAP) เป็นประธานร่วมจัดการประชุมผู้นำระดับสูงในอาเซียน เพื่อกำหนดประเด็นการส่งเสริมการบรรลุวิสัยทัศน์ประชาคมอาเซียน 2025 และวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน 2030 ของสหประชาชาติ ที่ ศูนย์ประชุมสหประชาชาติ ถ.ราชดำเนินนอก
นายดอน กล่าวเปิดการประชุมตอนหนึ่งว่า ถือเป็นเรื่องดีที่จะมาร่วมกันหาแนวทางการแก้ปัญหาภายในภูมิภาคอาเซียนให้เกิดความยั่งยืน พร้อมยืนยันว่า จะร่วมกันพัฒนาประเทศในภูมิภาคอาเซียน ให้มั่นคง มั่งคั่งและยั่งยืน โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง พร้อมผลักดันส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือของหน่วยงานต่างๆ ในอาเซียน เพื่อให้เกิดโครงการที่เป็นรูปธรรม
“ความสำเร็จและผลประโยชน์ทั้งหมด จะเกิดกับประชาชนทุกคนในภูมิภาค และที่สำคัญ อาเซียนสามารถสร้างมูลค่าทางการค้าให้เพิ่มพูนได้มากกว่าปัจจุบัน โดยการหารือกับ UN ในแง่การพัฒนา จึงสอดคล้องกับความพยายามพัฒนาอาเซียนให้ยั่งยืนในอนาคตต่อไป” นายดอน กล่าว
ขณะที่ นางชามชัด อัคห์ตาร์ เห็นว่า ประเทศในอาเซียนต้องร่วมกันผลักดันความยั่งยืนทางน้ำ และทางทะเล ควรนำเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนไปปรับใช้ในระดับผู้คน พัฒนาโครงการที่เกี่ยวกับการเงิน ร่วมกันแก้ปัญหาด้านสังคม หาแนวทางป้องกันเรื่องที่จะเกิดขึ้นกับเด็กและสตรี รวมถึง การแก้ปัญหาเรื่องยาเสพติดด้วย และที่สำคัญควรจัดการประชุมในลักษณะแบบนี้ โดยให้ประเทศไทยเป็นผู้ติดต่อ ประสานงานกับประเทศในอาเซียน
ด้าน น.ส.วิคตอเรีย ควาควา รองประธานธนาคารโลกสำหรับภูมิภาคตะวันออกและแปซิฟิก กล่าวว่า ประเทศในภูมิภาคอาเซียนต้องปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์โลก เพราะขณะนี้เกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ และมีสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง ทำให้เกิดผลกระทบเป็นวงกว้าง จึงต้องเปลี่ยนระบบผู้คน แรงงาน และการศึกษา รวมทั้ง ร่วมกันสร้างสิ่งแวดล้อมให้มีพื้นที่สีเขียวมากขึ้น
“อาเซียนต้องร่วมกันโปรโมทการสร้างงาน สร้างอาชีพ โดยการแลกเปลี่ยนแรงงานระหว่างกัน เพื่อช่วยกระตุ้นให้ทุกคนมีรายได้เพิ่มมากขึ้น ซึ่งการดำเนินการจะต้องมีความโปร่งใสในทุกเรื่อง รวมถึง มีการผ่อนผันกฎระเบียบการข้ามผ่านชายแดนระหว่างกัน ให้มีความสะดวกมากยิ่งขึ้นด้วย” น.ส.ความความ กล่าว
จากนั้น นายดอน แถลงว่า สำหรับการยกระดับความร่วมมืออาเซียน ที่ครบรอบ 50ปี จะเป็นความสำเร็จของประชาชน เพื่อให้ผลพวงทั้งหลายที่เป็นประโยชน์ตกอยู่กับประชาชน โดยอาเซียนสามารถสร้างมูลค่าทางการค้าให้เพิ่มพูนได้ ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาของ UN ทั้งนี้อาเซียนกำลังได้รับความสนใจจากนานาประเทศ และมีกลุ่มต่างๆ เข้ามาพัฒนา เพื่อนำไปสู่การดำเนินโครงการต่างๆ ด้วยกัน ซึ่งประเทศด้อยพัฒนาจะได้ประโยชน์อย่างมาก โดยมีประเทศไทยทำหน้าที่เป็นเหมือนตัวตั้งตัวตีในการริเริ่มโครงการเรื่องการพัฒนาอย่างยั่งยืน
“เรื่องต่างๆ ขณะนี้กำลังดำเนินการไปได้ด้วยดี จึงเชื่อว่าจะทำให้อาเซียนมีความเข้มแข็ง และก้าวไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนในอนาคตต่อไป” นายดอน กล่าว
โอกาสนี้ กระทรวงการต่างประเทศร่วมกับสำนักงานความร่วมมือใต้-ใต้ แห่งสหประชาชาติ (UNOSSC) เปิดตัววารสารที่ UNOSSC จัดทำ เกี่ยวกับการสร้างความตระหนักรู้ เกี่ยวกับการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยเชิญประเทศไทยเป็นประเทศแรกร่วมจัดทำ โดยชูการพัฒนาของประเทศไทย ที่น้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อแบ่งปันประสบการณ์ ที่จะนำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน
ทั้งนี้ การจัดทำวารสารชุดดังกล่าว เพื่อเปิดโอกาสให้ประเทศกำลังพัฒนา ได้มีพื่นที่ในการแบ่งปันประสบการณ์ เป็นแบบอย่างการสร้างแรงกระตุ้นให้ประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ หันมาให้ความสำคัญกับความร่วมมือใต้-ใต้ เพิ่มมากขึ้น .- สำนักข่าวไทย