รัฐสภา 30 มี.ค.-การพิจารณาร่างพระราชบัญญัติปิโตรเลียม มาตรา 10/1 เรื่องการตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ เป็นประเด็นที่มีการอภิปรายมากที่สุด โดยล่าสุด กรรมาธิการฯ ยอมถอยแล้ว โดยนำไปไว้เป็นข้อสังเกต แต่ก็เสนอญัตติขอให้ตั้งกรรมาธิการเพื่อศึกษาในเรื่องนี้ควบคู่กันไปด้วย ขณะที่กลุ่มผู้ชุมนุมย้ายการชุมนุมไปทำเนียบรัฐบาล
การประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช. พิจารณาร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียม ในวาระที่ 2 และ 3 โดย พล.อ.สกนธ์ สัจจานิตย์ ประธาน กมธ.วิสามัญพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียมฯ ยืนยันการตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติเป็นเรื่องจำเป็นต่อการบริหาร แบ่งปันผลผลิตปิโตรเลียม แต่ต้องศึกษาให้รอบด้านก่อน พร้อมย้ำกรรมาธิการฯ ไม่เคยคิดให้กรมการพลังงานทหารหรือพวกพ้องมาก่อตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ และไม่มีได้มีจุดประสงค์เพื่อให้เป็นบริษัทน้ำมันแข่งกับ ปตท. แต่เพื่อดูแลระบบการผลิตที่เพิ่มขึ้นมาใหม่ และให้ราคาน้ำมันลดลง
ขณะที่สมาชิก สนช.มีทั้งคัดค้านและสนับสนุนการจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ โดยสมาชิกที่สนับสนุนเห็นว่าจะเพิ่มระบบการแบ่งปันผลผลิต จากเดิมที่มีเพียงระบบสัมปทาน จำเป็นต้องมีบรรษัทดูแลการทำสัญญากับบริษัทข้ามชาติ แต่สมาชิกฝ่ายที่คัดค้านได้นำรูปแบบของบรรษัทน้ำมันทั่วโลกมาเปรียบเทียบ และยืนยันว่ารูปแบบของไทยรัฐไม่จำเป็นต้องเป็นผู้ถือหุ้นทั้งหมด อีกทั้งเรื่องดังกล่าวยังขาดความชัดเจน หากยังเดินหน้าต่ออาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจได้
ส่วนความเคลื่อนไหวที่หน้ารัฐสภา ตำรวจ 3 กองร้อยเข้าขอคืนพื้นที่จากกลุ่มเครือข่ายประชาชนเพื่อการปฏิรูปพลังงานไทย เนื่องจากผิดกฎหมายการชุมนุมในที่สาธารณะ และเจ้าหน้าที่ได้ตั้งกำแพงสกัดผู้ชุมนุมที่จะเดินเท้าไปยังทำเนียบรัฐบาล ก่อนจะเชิญตัว พญ.กมลพรรณ ชีวพันธ์ศรี แกนนำกลุ่มขึ้นรถตู้ไปเจรจา โดย พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รอง ผบ.ตร. เข้ามาควบคุมสถานการณ์ จากนั้นกลุ่มผู้ชุมนุมได้ทยอยออกจากพื้นที่ และพบว่าเดินเท้าไปยังทำเนียบฯ แล้ว ขณะเดียวกัน เจ้าหน้าที่จากศาลแพ่งได้นำหมายศาลมาติดที่ประตูรัฐสภา เพื่อเรียกผู้จัดการชุมนุมคัดค้านร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียม 10 คน ไปไต่สวนเรื่องการชุมนุมในวันจันทร์ที่ 3 เม.ย.นี้.-สำนักข่าวไทย











