ทำเนียบฯ 30 มี.ค.- นายกฯ ทำเอกสารชี้แจงกรณี พ.ร.บ.ปิโตรเลียม ยืนยันความจำเป็นที่ต้องเสนอกฎหมายปิโตรเลียม เพื่อให้รองรับสัมปทานที่จะหมดอายุลงในเวลาอันใกล้ ยันทหาร ไม่เข้าไปมีผลประโยชน์
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มอบเอกสารชี้แจงเกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติปิโตเลียม ที่พิมพ์ด้วยตัวเองให้กับสื่อมวล พร้อมระบุ ให้ลงรายละเอียดให้ครบถ้วน
เอกสารชี้แจงของนายกรัฐมนตรี มีทั้งหมด 6 หน้า เนื้อหาระบุความจำเป็น 9 ข้อ กรณีร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียม ประกอบด้วย 1.รัฐบาลมีความจำเป็นที่ต้องเสนอกฎหมายปิโตรเลียม เพื่อให้รองรับสัมปทานที่จะหมดอายุลงในเวลาอันใกล้ หลักการและเหตุผลที่รัฐบาลเสนอครั้งแรก แต่เดิม เพื่อให้มีการดำเนินการบริหารจัดการ ได้ทั้งระบบสัมปทานและระบบแบ่งปันผลผลิต หรือ PSC เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดของประเทศ ซึ่งหากไม่มีกฎหมายฉบับนี้ก็จะทำได้เพียงระบบสัมปทานเดิมเท่านั้น
2.ต่อมารัฐบาลได้นำร่างดังกล่าวเสนอต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช.ซึ่งในชั้นกรรมาธิการของ สนช.ได้รวบรวมรับฟังข้อเสนอจากภาคประชาชนให้มีการตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ หรือ NOC และ สนช.ได้เสนอเรื่องดังกล่าวกลับมาที่ ครม.เพื่อให้ความเห็นชอบ
3.ครม.เห็นชอบให้เพิ่มหลักการได้ในชั้นกรรมาธิการ ซึ่งเดิมไม่มีในวาระแรกด้วยเหตุผลคือรัฐบาลและ ครม.ไม่ต้องการให้เกิดความขัดแย้ง เนื่องจากรับฟังความคิดเห็นที่กรรมาธิการศึกษาเพิ่มเติมแล้ว
4.คณะกรรมการธิการก็ได้ทำงานต่อไปโดยมีเนื้อหา บรรษัทน้ำมันแห่งชาติ ใน พ.ร.บ.ปิโตรเลียม ซึ่งต้องพิจารณาต่อในวาระ 3 ตามหลักการของเหตุผลที่กล่าวมาข้างต้น ซึ่งการทำงานของคณะกรรมการธิการก็เป็นการรวบรวมความคิดเห็นจากทุกฝ่าย
5.รัฐบาลต้องการให้ พ.ร.บ.ฉบับนี้ผ่านไปโดยปราศจากความขัดแย้งในกรณีจัดตั้ง บรรษัทน้ำมันแห่งชาติ โดยระบุอย่างชัดเจนว่า ต้องมีการศึกษาในรายละเอียดก่อนและให้ดำเนินการได้เมื่อพร้อมเท่านั้น ก็เป็นเมื่อไหร่ก็แล้วแต่การพิจารณาของ สนช.
6.กรณีการกล่าวหารัฐบาล คสช. นายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรี คณะกรรมาธิการ ทหาร หวังจะมีผลประโยชน์ในเรื่องของการให้กรมพลังงานทหารเป็นผู้ดำเนินการ ข้อกล่าวหาเหล่านี้ ไม่ได้ทราบเรื่องดังกล่าว และหากมีก็ไม่อนุมัติอยู่แล้ว
7.การที่มีผู้ยกเรื่องออกมาเป็นประเด็น ทางรัฐบาล คณะรัฐมนตรี จะให้ฝ่ายกฎหมายได้สอบสวนว่าเกิดอะไรขึ้น เพราะทำให้เกิดความเสื่อมเสียกับรัฐบาล คสช. ทหาร อย่างร้ายแรง มีการโพสต์ข้อความ สร้างการดูหมิ่นเกลียดชังกับรัฐบาล
8. ขอให้สังคม ประชาชน ได้พิจารณาความน่าเชื่อถือจากข้อความดังกล่าว และนายกรัฐมนตรี ยืนยันว่า จะไม่ให้ใครได้รับผลประโยชน์นอกจากประเทศชาติและประชาชน แต่ต้องอยู่ภายใต้กรอบกฎหมายที่ดำเนินการ โดยการพิจารณาของ สนช.และรัฐบาล คสช.จะไม่ให้หน่วยงานทหารเข้ามาเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้เด็ดขาด และ
9.กรณีที่มีข่าวว่าเตรียมเสนอรายละเอียดการจัดตั้งบรรษัทน้ำมันเรียบร้อยแล้ว ประกอบไปด้วยใครบ้าง มีทั้งรัฐบาล ทหาร และอื่นๆ นั้น รัฐบาลไม่เคยรับทราบรายละเอียดเรื่องนี้ ทราบเพียงแต่ว่า หากกฎหมายผ่าน ก็จะมีเพียงการจัดตั้ง บรรษัทน้ำมันแห่งชาติเมื่อพร้อม ซึ่งก็หมายความว่า เมื่อมีการผ่านเรื่อง บรรษัทน้ำมันแห่งชาติดังกล่าว ก็ต้องมีการศึกษาและรับฟังความเห็นเรื่องนี้อีกครั้ง ปัจจุบัน การทำหน้าที่จัดการพลังงาน เป็นหน้าที่ของกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กระทรวงพลังงาน ซึ่งมีหน้าที่ดูแลผลประโยชน์ของชาติ และความมั่นคง ด้านพลังงานของประเทศ รวมถึงการควบคุม กำหนดการจัดหาพลังงาน โดยระบบสัมปทาน หรือ ระบบ PSC อยู่แล้ว ว่าจะทำในระบบใด ไม่ใช่ ปตท.ที่เป็นรัฐวิสาหกิจ โดยมีกระทรวงการคลังถือหุ้นเกินร้อยละ 50 ที่จะดำเนินการในเรื่องธุรกิจพลังงาน เพื่อเป็นการเสริมรายได้ ผลตอบแทนของรัฐบาลและผู้ถือหุ้นเท่านั้น
นอกจากนี้นายกรัฐมนตรี ยังแจกเอกสาร แผนผังแสดงช่วงเวลาดำเนินการแก้ไข ร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียม ซึ่งดำเนินการตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ปี 2558 จนถึง วันที่ สนช.ลงมติวาระ 2 และ 3 ในวันที่ 30 มีนาคม 2560 อีกทั้งยังได้ลำดับความเป็นมา ในการอนุมัติหลักการร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว ว่า ครม.มีมติล่าสุดเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา.-สำนักข่าวไทย