กรุงเทพฯ 29 มี.ค.-มาดูโครงการบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ ทั้งที่มา โครงสร้าง และบทบาท ถ้าเกิดขึ้นจริงจะทำให้มีการบริหารจัดการปิโตเลียมได้อย่างกว้างขวาง
ที่มาของบรรษัทน้ำมันแห่งชาติมาจากการศึกษาของคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาปัญหาการบังคับใช้พระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ.2514 และพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม พ.ศ.2514 ที่มี พล.อ.สกนธ์ สัจจานิตย์ เป็นประธาน
ผลการศึกษาของคณะอนุกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาปัญหาการใช้พระราชบัญญัติปิโตเลียม เสนอให้ตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติขึ้นมาเป็นตัวแทนของรัฐ เป็นผู้มีสิทธิเพียงรายเดียวในการสำรวจและให้สิทธิเกี่ยวกับปิโตรเลียม รับผิดชอบการบริหารจัดการทรัพยากรปิโตรเลียม มีสภาพเป็นนิติบุคคล มีฐานะเป็นหน่วยงานรัฐ แต่ไม่เป็นส่วนราชการตามกฎหมาย เป็นผู้ถือสิทธิในทรัพยากรปิโตเลียมแทนรัฐ ในการสำรวจและแสวงหาปิโตรเลียม ควบคุมดูแลระบบการสำรวจและแสวงหาประโยชน์ในทรัพยากรปิโตรเลียม และมีหน้าที่ในการบริหารสัญญาสัมปทาน สัญญาแบ่งปันผลผลิต และสัญญาการจ้าง รวมถึงสัปทานที่หมดอายุ
โดยโครงสร้างบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ National Oil Company (NOC) มีคณะกรรมการบริหารจัดการบรรษัทปิโตรเลียมแห่งชาติ ประกอบด้วย ตัวแทนจากภาครัฐ ภาคประชาชน และผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความรู้และประสบการณ์ด้านต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง (ด้านสิ่งแวดล้อม ด้านกฎหมาย ด้านพลังงาน ด้านความมั่นคง เป็นต้น) โดยจะต้องเป็นบุคคลที่ได้รับการยอมรับกันได้ในทุกภาคส่วน เพื่อทำหน้าที่ในการเสนอแนะต่อรัฐมนตรีหรือคณะรัฐมนตรี และการออกกฎเกณฑ์ในการบังคับใช้กับการประกอบกิจการสำรวจและแสวงหาปิโตรเลียม รวมถึงเป็นผู้เสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรี ในการพิจารณาว่าแปลงสำรวจหรือพื้นที่ผลิตแปลงใดจะใช้ระบบสำรวจและแสวงหารูปแบบใด โดยกำหนดให้มีสำนักงานคณะกรรมการปิโตรเลียมแห่งชาติขึ้น เพื่อรับผิดชอบงานธุรการของคณะกรรมการ
บทบาทของของบรรษัทปิโตรเลียมแห่งชาติ จะมีหน้าที่ 5 ด้าน คือ บริหารจัดเก็บรายได้ บริหารสิทธิปิโตรเลียมแห่งรัฐ บริหารสัญญา บริหารจัดการข้อมูลการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม บริหารผลกระทบชุมชน โดยในส่วนของการบริหารปิโตรเลียมแทนรัฐนั้นจะมีหน้าที่หลักๆ คือ การบริหารสัญญาใหม่ และบริหารการผลิตในแปลงที่หมดสัญญา โดยสามารถดำเนินการเอง หรือว่าจ้างเอกชนเข้ามาดำเนินการก็ได้ หากแปลงไหนหมดสัญญา ถ้าไม่มีปิโตรเลียม ก็จะเข้าไปรื้อถอน แต่ถ้ายังมีปิโตรเลียมอยู่ ก็จะเข้าไปรับมอบอุปกรณ์และดำเนินการผลิต สำหรับการบริหารจัดการข้อมูลการสำรวจปิโตรเลียมและผลิตปิโตรเลียม จะทำหน้าที่วิเคราะห์ศักภาพแปลงปิโตรเลียม และบริหารการสำรวจเบื้องต้น
การตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติจะเป็นไปตามร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียม มาตรา 10/1 ที่บัญญัติว่า ให้มีการจัดตั้งบรรษัทนำมันแห่งชาติเมื่อมีความพร้อม โดยพิจารณาจากผลการศึกษาของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในรายละเอียดของรูปแบบและวิธีการดำเนินการจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ.-สำนักข่าวไทย