กรุงเทพฯ 28 มี.ค. –“อภิสิทธิ์” แนะทางออกบรรษัทพลังงานแห่งชาติ ต้องกำหนดให้ชัด ทั้งอำนาจหน้าที่และกรอบเวลาการตั้งองค์กร ระบุ จะนำร่างกฎหมายกลับไปปรับแก้ หรือ ออกกฎหมายอีกฉบับมารองรับ
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึง กรณีที่คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียม และร่าง พ.ร.บ.ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม เพิ่มประเด็นการจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติเอาไว้ในบทเฉพาะกาล มาตรา 10/1 ว่า สาเหตุที่มีการทำกฎหมายพลังงานใหม่ทั้งหมด เพราะกำลังเปิดทางเลือกให้ประเทศว่า แทนที่จะมีระบบสัมปทานอย่างเดียว ก็ให้มีระบบแบ่งปันผลผลิต การจ้างสำรวจการผลิต จึงมีความจำเป็นที่จะต้องปรับโครงสร้างองค์กรที่ทำงานด้านพลังงานทั้งหมด
นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ปัญหาในขณะนี้คือ เวลาคืนสัมปทาน ต้องมีองค์กรมาทำหน้าที่บริหารจัดการทรัพย์สินที่ได้คืนมา ในกรณีที่ต้องแบ่งปันผลผลิต ก็จำเป็นต้องมีอีกองค์กรหนึ่งขึ้นมา ขณะที่รัฐบาลบอกว่า ปตท.สามารถทำทุกอย่างได้ ก็มีปัญหาในเรื่องการผูกขาด เช่น ท่อก๊าซ ที่ต้องแยกออกมาให้มีการดูแลต่างหาก เพราะ ปตท.ไม่ได้ถือหุ้นโดยรัฐบาล 100% ทำงานเหมือนธุรกิจ
นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ดังนั้น ควรเพิ่มเนื้อหาให้ชัดเจนว่า ต้องมีองค์กรขึ้นมาบริหารจัดการสิ่งเหล่านี้ กำหนดหลักการให้ชัดว่า ถึงอำนาจขอบเขตขององค์กรที่จะทำงานในแต่ละด้าน และกำหนดกรอบเวลา เพื่อให้ทันกับการเปิดทางเลือกให้ประเทศ โดยไม่ต้องเขียนรายละเอียดทั้งหมด เพราะอาจทำให้กฎหมายล่าช้า วันนี้เราสุดโต่งทางใดทางหนึ่งไม่ได้ การต่อต้านบทบัญญัติที่เพิ่มขึ้นมาตอนนี้ เป็นการสะท้อนถึงการแสดงอำนาจของกลุ่มทุนที่มีการผูกขาดอยู่ในปัจจุบันอย่างชัดเจน
“ผมอยากให้รัฐบาลจริงจังเรื่องการปฏิรูประบบพลังงาน โดยใช้เรื่องนี้เป็นจุดเริ่มต้นปฏิรูปโครงสร้างระบบพลังงาน ซึ่งใช้เวลาไม่ถึงเดือนในการปรับปรุงเฉพาะหมวดเกี่ยวกับองค์กรการกำกับดูแลด้านพลังงานให้ดี หรืออาจจะมีกฎหมายอีกฉบับหนึ่งเข้ามา ก็จะเป็นทางออกที่ทุกฝ่ายควรจะยอมรับ แต่ถ้าเขียนแบบนี้ ผมมองไม่เห็นว่าจะเกิดการปฏิรูปโครงสร้างพลังงานได้อย่างไร ในขณะที่ความขัดแย้งยังดำรงอยู่เหมือนเดิม” นายอภิสิทธิ์ กล่าว
นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ในการพิจารณาร่างกฎหมายปิโตรเลียมทั้ง 2 ฉบับของ สนช.วันที่ 30 มีนาคมนี้ กรรมาธิการฯมีสิทธิที่จะรับกลับไปแก้ไขเพิ่มเติมได้อยู่แล้ว เป็นกระบวนการของสภา เพราะหลักการของกฎหมายฉบับนี้คือ ต้องการแก้กฎหมายเดิม เพื่อเปิดทางไปสู่ระบบอื่น ที่ไม่ใช่สัมปทาน การที่ต้องมีองค์กรมารองรับทางเลือกใหม่นั้น ไม่เป็นการขัดหลักการ แต่ความเหมาะสมว่าจะอยู่ในกฎหมายฉบับนี้ หรือมีอีกฉบับหนึ่งก็สามารถพิจารณาได้ แต่ควรมีความชัดเจน
“ไม่ใช่เขียนไปแล้วสุ่มเสี่ยงทั้ง 2 ทางคือ ทางหนึ่งไม่เกิดเลย แล้วทางเลือกเกี่ยวกับระบบแบ่งปันผลผลิตต่าง ๆ ก็จะไม่เกิดเลย หรือ เขียนลอยเกินไปอาจนำไปสู่การสร้างบริษัทยักษ์ใหญ่ที่มีปัญหาเหมือนในประเทศอื่น ซึ่งกลุ่มทุนเอามาอ้างอยู่ในขณะนี้ก็ไม่ดี จึงเห็นว่ามีทางสายกลางตามที่ผมได้เสนอไปแล้ว เชื่อว่าไม่ขัดกับหลักการที่เสนอไป” นายอภิสิทธิ์ กล่าว .- สำนักข่าวไทย