กรุงเทพฯ 29 มี.ค.- “อภิสิทธิ์” หนุนลดขั้นตอนการทำงานของ ป.ป.ช. เพื่อความรวดเร็ว แต่ในคดีนักการเมือง ขรก.ระดับสูง มูลค่าทุจริตมาก ยังจำเป็นต้องมีกรรมการ ป.ป.ช.เป็นอนุกรรมการไต่สวน ชี้จุดอ่อนร่างกฎหมาย ป.ป.ช. บังคับผู้ร้องต้องลงชื่อ หวั่นคนไม่กล้า ค้าน ป.ป.ช.บูรณาการงบประมาณร่วมกับรัฐบาล ส่อผลประโยชน์ทับซ้อน เสียความเที่ยงธรรมในการตรวจสอบ และ ป.ป.ช.ควรเป็นผู้เสียหายร้องคดีทุจริตได้ พร้อมส่งเอกสารเสนอความเห็นต่อ กรธ.
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ให้สัมภาษณ์ ภายหลังการเข้าร่วมเวทีรับฟังความคิดเห็นร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ว่า พรรคประชาธิปัตย์ได้มอบหมายให้นายวิรัตน์ กัลยาศิริ หัวหน้าทีมกฎหมายของพรรค ติดตามการสัมนาและเสนอความเห็นต่อคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) และหากมีความจำเป็น ก็จะเสนอความเห็นเป็นเอกสารต่อ กรธ. ด้วย
นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ส่วนตัวสนับสนุนประเด็นที่ กรธ.พยายามทำ เพื่อแก้ปัญหาเรื่องขั้นตอนมากเกินไป และต้องการลดงานของ ป.ป.ช. แต่ต้องการเสนอให้มีการแยกประเภทเรื่องที่มีการร้องเรียน แบ่งตามระดับตำแหน่ง และมูลค่าความทุจริต หากผู้ที่ถูกกล่าวหาดำรงตำแหน่งระดับสูง เป็นนักการเมือง ก็ควรใช้ระบบที่ให้กรรมการ ป.ป.ช.ไปเป็นประธานอนุกรรมการ หรือดูแลสำนวนด้วยตัวเอง
“ไม่อยากให้ทิ้งเรื่องการใช้อนุกรรมการ ที่ต้องมีหนึ่งในกรรมการ ป.ป.ช. เข้าไปร่วมด้วย เพราะการให้เจ้าหน้าที่ไปทำ โดยคนภายนอกไม่มีทางรับรู้เลยว่า เจ้าหน้าที่มีที่มาที่ไปอย่างไร ก็เป็นเรื่องอันตราย” นายอภิสิทธิ์ กล่าว
อย่างไรก็ตาม นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า สิ่งที่เป็นห่วงในร่างกฎหมายนี้มีหลายประเด็น อาทิ การร้องเรียน ที่ให้เซ็นชื่อระบุว่า ผู้กล่าวหาคือใคร จะทำให้มีเรื่องจำนวนมากไปไม่ถึง ป.ป.ช. สุดท้ายจะทำให้การปราบปรามการทุจริตทำได้ยากขึ้น และการขยายอำนาจ ป.ป.ช.มากเกินไป โดยเฉพาะการยกเว้นจากกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับอาวุธปืน วัตถุระเบิด ยุทธภัณฑ์ ทั้งที่หน้าที่ของ ป.ป.ช.คือ ต้องดูเรื่องการสืบสวน สอบสวน ไต่สวนการทุจริตมากกว่า ทำไม ป.ป.ช.จึงต้องมีอาวุธ ยุทโธปกรณ์อยู่ด้วย
นอกจากนี้ นายอภิสิทธิ์ ยังแสดงความห่วงใย กรณีที่ร่างกฎหมายนี้ กำหนดให้มีกองทุน ป.ป.ช. บูรณาการงบประมาณด้านการปราบปรามการทุจริตของรัฐบาล และให้ประธาน ป.ป.ช. เป็นประธานกรรมการร่วมกับนายกรัฐมนตรี โดยมีรัฐมนตรีอีกหลายคนอยู่ในคณะทำงานเรื่องงบประมาณ
นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า เรื่องนี้ไม่น่าจะเป็นผลดี เพราะคนที่อยู่ในคณะรัฐมนตรี หรือ วงราชการ คือคนที่ต้องถูกตรวจสอบจาก ป.ป.ช. ถ้าต้องทำงานร่วมกันเรื่องงบประมาณ จะเกิดความสุ่มเสี่ยงต่อการเกิดความเกรงใจ ผลประโยชน์ขัดกัน หรือสร้างความเป็นเครือข่ายขึ้นมา และตัวกองทุนก็พูดเรื่องการมีสินบน ซึ่งเป็นอันตรายเพราะระบบสินบนของหลายหน่วยงานในขณะนี้มีปัญหามาก
“ป.ป.ช.และฝ่ายบริหาร จะต้องมีระยะห่าง แม้แต่ในรัฐธรรมนูญผมก็ไม่เห็นด้วย ที่กำหนดว่าการร้องเรียน ป.ป.ช.ต้องผ่านประธานรัฐสภา ซึ่งปกติเป็นคนฝ่ายรัฐบาล ผมเห็นว่าควรเหมือนเดิม ที่สามารถฟ้องศาลได้เลย ในอดีตก็มี ป.ป.ช.ชุดหนึ่งถูกฟ้อง และศาลฎีกาตัดสินว่า มีความผิดด้วย ที่ทำสำเร็จได้ เพราะฝ่ายค้านสามารถไปฟ้องตรง แต่เมื่อกำหนดให้ฟ้องผ่านประธานรัฐสภา ก็อาจเกิดปัญหาที่ประธานไม่ส่งไปยังศาล ซึ่งถือว่าเป็นจุดอ่อน” นายอภิสิทธิ์ กล่าว
นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ต้องการให้กระบวนการปราบปรามการทุจริตสามารถใช้ประโยชน์จากภาคส่วนต่าง ๆ มากขึ้น นิยามคำว่าผู้เสียหายยังแคบไป ควรระบุให้ประชาชนคือผู้เสียหาย สามารถร้องเกี่ยวกับการทุจริตได้ เพราะเป็นผู้เสียภาษี และหากห่วงว่าจะทำให้เกิดการร้องเรียนไม่สิ้นสุด ก็สามารถจำหน่ายเรื่องได้ หากเป็นการร้องที่ไม่มีสาระ ไม่มีพยานหลักฐานเพียงพอ เพราะที่ผ่านมา ป.ป.ช.ก็รับหลายเรื่อง ที่ผู้ร้องไม่มีอะไรเลย นอกจากการตัดข่าวหนังสือพิมพ์ จึงควรเปิดกว้างในส่วนของนิยามคำว่าผู้เสียหาย
นายอภิสิทธิ์ ยังเห็นว่า ในร่างกฎหมายดังกล่าว ยังมีการใช้ประโยชน์จากงานวิชาการ การทำงานขององค์กรภาคเอกชนและภาคประชาชน เข้ามาเชื่อมโยงน้อยเกินไป ต้องการให้ปรับปรุง เพราะกฎหมายมีความสำคัญมาก เนื่องจากตามโครงสร้างของรัฐธรรมนูญ ป.ป.ช.เป็นหน่วยงานหลักในการแก้ปัญหาเรื่องการใช้อำนาจในทางไม่ชอบ .- สำนักข่าวไทย