กรุงเทพฯ 29 มี.ค.-นักวิชาการเสนอรัฐบาลใช้ ม.44 งดจำหน่ายสุราช่วงสงกรานต์ เพื่อลดจำนวนผู้บาดเจ็บ เสียชีวิตจากเมาแล้วขับ หลังพบสถิตินิยมดื่มฉลองหยุดยาวเพิ่ม2เท่า
ในการเสวนาวิชาการ เสียงจากห้องฉุกเฉิน การบาดเจ็บช่วงสงกรานต์และปีใหม่จากสุรา โดยศูนย์วิจัยปัญหาสุรา (ศวส.) ร่วมกับสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคส.) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
น.ส.โศภิต นาสืบ นักวิจัยสำนักวิจัยนโยบายสร้างเสริมสุขภาพ สำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ กล่าวว่า จากการศึกษาพฤติกรรมการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และการบาดเจ็บรุนแรงในช่วงปีใหม่และสงกรานต์ เปรียบเทียบกับช่วงปกติพบว่าเทศกาลหยุดยาวมีการบาดเจ็บหมู่มากกว่าช่วงเวลาปกติ โดยช่วงปีใหม่เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.2 และช่วงสงกรานต์เพิ่มร้อยละ 8.7 ส่วนใหญ่เกิดจากการขับขี่รถจักรยานยนต์ร้อยละ 80 และเกิดอุบัติเหตุบนถนนในหมู่บ้านมากที่สุด รองลงมาเป็นถนนกรมทางหลวงชนบท
นักวิจัย กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้วันหยุดยาวพบมีการดื่มเหล้ามากกว่าปกติถึง2เท่า ร้อยละ 70 ของคนที่ดื่มอายุ 20 -29 ปี และพบว่าร้อยละ 67 ได้รับบาดเจ็บขณะดื่มแล้วขับ รวมทั้งยังทำให้ผู้โดยสารรวมทั้งคนเดินถนนได้รับบาดเจ็บหรืออุบัติเหตุไปด้วย และยิ่งไปกว่านั้นปริมาณการดื่มช่วงเทศกาลตั้งแต่ปี 2556 – 2559 พบว่า ผู้ได้รับบาดเจ็บจากอุบัติเหตุจราจรดื่มสุราเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจาก 108.5 กรัมของเอทานอลในปี 2556 เพิ่มเป็น 212.9 กรัมของเอาทานอลในปี 2559 หรือมีอัตราการบริโภคสุราเพิ่มขึ้นถึง2 เท่าซึ่งถือเป็นปริมาณการดื่มที่เป็นอันตรายต่อผู้ขับขี่
ด้าน นพ.อุดมศักดิ์ แซ่โง้ว นักวิชาการศูนย์วิจัยปัญหาสุราและหัวหน้าศูนย์ความเป็นเลิศด้านการวิจัยระบบสุขภาพและการแพทย์มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ กล่าวว่า อุบัติเหตุการสูญเสียช่วง 7 วันอันตรายของเทศกาลสงกรานต์มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี โดยปีที่ผ่านมาเกิดอุบัติเหตุรวม 3,447ครั้งเสียชีวิต 442 รายบาดเจ็บ 3,656ราย เพิ่มขึ้นจากสงกรานต์ปี 2558 ซึ่งมีอุบัติเหตุเกิดขึ้น 3,373ครั้งเสียชีวิต 364 รายบาดเจ็บ 3,559ราย สาเหตุหลักเกิดจากเมาสุรา โดยเพศชายอายุ 25 -49 ปีเป็นกลุ่มที่ได้รับอุบัติเหตุจนเสียชีวิตและบาดเจ็บสูงสุด
ทั้งนี้ได้เสนอแนวทางหากต้องการลดอุบัติเหตุในช่วงสงกรานต์นี้ ต้องได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่าย ภาคธุรกิจต้องงดกิจกรรมส่งเสริมการขายสุราในบริเวณที่มีการเล่นสาดน้ำ รัฐบาลต้องมีนโยบายให้มีการสุ่มตรวจแอลกอฮอล์ในผู้ขับขี่ยานพาหนะกระจายตามพื้นที่ทั่วประเทศและสนับสนุนงบประมาณอย่างเพียงพอ รวมทั้งควรออกกฏหมายให้ผู้ขับขี่ต้องมีระดับแอลกอฮอล์เป็นศูนย์ เพื่อความปลอดภัยสูงสุดของผู้ใช้รถใช้ถนน พร้อมทั้งเสนอให้รัฐบาลใช้ ม.44ในการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า เพื่อให้สงกรานต์ปีนี้เป็นสงกรานต์ที่ปลอดภัย โดยควรงดจำหน่ายสุราในช่วงวันที่ 13 -15 เมษายน เหมือนการห้ามจำหน่ายในช่วงวันพระใหญ่ด้วย
นพ .สุวัฒน์ จริยาเลิศศักดิ์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สุขภาพมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า จากการศึกษา มีผู้บาดเจ็บมาเข้าห้องฉุกเฉิน สาเหตุมาจากการดื่มแอลกอฮอล์มากถึงร้อยละ 16 ซึ่งผู้บาดเจ็บเหล่านี้ มีพฤติกรรมการดื่มก่อนการเกิดบาดเจ็บภายใน 6 ชั่วโมง ปริมาณแอลกอฮอล์สุทธิที่ดื่มเฉลี่ย 108.3 มิลลิกรัมเทียบเท่ากับการดื่มเบียร์ขวดใหญ่ 3.5 ขวด
นพ.สงวนศิลป์ รัตนเลิศ ศัลยแพทย์ด้านระบบประสาทและสมอง คณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่า เมื่อดื่ม สุราจะกดการทำงานของสมอง ทำให้การควบคุมยานพาหนะด้อยลง และสุรายังทำลายเนื้อสมองก่อให้เกิดความสูญเสียมากมาย
จากข้อมูลการศึกษาผู้ป่วยบาดเจ็บที่ศรีษะจากอุบัติเหตุเมาแล้วขับมีอายุน้อยกว่า 16 ปี โดยเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ ในปี 2547-2558 จำนวน 948 ราย ในจำนวนนี้เป็นผู้ขับที่อายุน้อยที่สุดมีอายุเพียง 7ปี 10 เดือน .-สำนักข่าวไทย