กรุงเทพฯ 28 มี.ค. – ค่ายรถยนต์สนใจผลิตรถปิ๊กอัพไฟฟ้าเพิ่มจากรถใช้น้ำมันที่ผลิตขายในปัจจุบัน ขณะที่บีโอไอพร้อมสนับสนุนมาตรการทางภาษี มั่นใจปีนี้ยอดยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนรวมไม่น้อยกว่า 600,000 ล้านบาท
นางหิรัญญา สุจินัย เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า ขณะนี้ผู้ผลิตรถยนต์ให้ความสนใจที่จะลงทุนผลิตรถยนต์ปิ๊กอัพไฟฟ้าตามนโยบายส่งเสริมการลงทุนรถไฟฟ้าในไทยที่ครอบคลุมทั้งรถยนต์นั่ง รถโดยสารขนาดใหญ่ และรถปิ๊กอัพ ปัจจุบันไทยเป็นฐานการผลิตรถปิ๊กอัพขนาดใหญ่ส่งออกไปทั่วโลก สำหรับการชักจูงการลงทุนผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในไทยนั้น ขณะนี้บีโอไอส่งเจ้าหน้าที่ออกไปชักจูงการลงทุนจากค่ายผู้ผลิตรถไฟฟ้าทั่วโลกที่ยังไม่เคยมีฐานการผลิตรถยนต์ในไทยให้เข้ามาลงทุนผลิตรถยนต์ในไทยด้วย
นางหิรัญญา กล่าวว่า ขณะนี้ทุกค่ายรถที่มีฐานการผลิตในไทยและยังไม่เคยลงทุนให้ความสนใจที่จะลงทุนเปิดสายการผลิตรถไฟฟ้าในไทย ในส่วนค่ายรถที่ยังไม่เคยลงทุนบีโอไอจะคอยให้คำปรึกษาช่วยเหลืออย่างเต็มที่ เพื่อให้ได้รับความสะดวกในการเข้ามาลงทุน โดยการลงทุนผลิตรถไฟฟ้าจะเริ่มต้นพัฒนาจากรถไฮบริดและปลั๊กอินไฮบริด ในช่วง 2-3 ปีแรกของการลงทุน จากนั้นจะพัฒนาไปสู่การผลิตรถไฟฟ้าสมบรูณ์แบบต่อไป
นางหิรัญญา กล่าวว่า ภาษีสรรพสามิตที่เข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีวันนี้ (28 มี.ค.) ถือเป็นมาตรการสำคัญที่จะช่วยกระตุ้นให้เกิดความต้องการซื้อรถไฟฟ้าใช้ในไทยด้วยระดับภาษีที่เอื้อให้เกิดตลาดในประเทศ สำหรับการยื่นขอลงทุนผลิตรถไฟฟ้า หากเป็นการยื่นขอผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแบบผสม(Hybrid Electric Vehicle – HEV) ผู้สนใจขอรับส่งเสริมจะต้องยื่นคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2560 จะต้องเสนอเป็นแผนงานรวม (Package) ประกอบด้วย โครงการประกอบรถยนต์ และโครงการผลิตหรือใช้ชิ้นส่วนสำคัญ ๆ ส่วนสิทธิและประโยชน์จะได้รับเฉพาะการยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักร
สำหรับการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแบบผสมเสียบปลั๊ก (Plug-In Hybrid Electric Vehicle – PHEV) จะต้องเสนอเป็นแผนงานรวม (Package) ที่ประกอบด้วย โครงการประกอบรถยนต์และโครงการผลิตหรือใช้ชิ้นส่วนสำคัญ จะต้องยื่นคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2561 จะได้รับสิทธิและประโยชน์ยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักร และยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 3 ปี ทั้งนี้ หากมีการผลิตชิ้นส่วนสำคัญมากกว่า 1 ชิ้น จะได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเพิ่มขึ้นชิ้นละ 1 ปี แต่รวมแล้วไม่เกิน 6 ปี การผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ (Battery Electric Vehicle -BEV) จะต้องเสนอเป็น Package ประกอบด้วย โครงการประกอบรถยนต์ และโครงการผลิตหรือใช้ชิ้นส่วนสำคัญ จะต้องยื่นคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2561 จะได้รับสิทธิและประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลตั้งแต่ 5 – 8 ปี ทั้งนี้หากมีการผลิตหรือใช้ชิ้นส่วนสำคัญมากกว่า 1 ชิ้น จะได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเพิ่มขึ้นชิ้นละ 1 ปี แต่รวมแล้วไม่เกิน 10 ปี
การผลิตรถโดยสารไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ (Battery Electric Bus) จะต้องเสนอเป็น Package ที่ประกอบด้วย โครงการประกอบรถยนต์ และโครงการผลิตหรือใช้ชิ้นส่วนสำคัญ จะต้องยื่นคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2561 จะได้รับการยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักร ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 3 ปี และหากมีการผลิตหรือใช้ชิ้นส่วนสำคัญมากกว่า 1 ชิ้น จะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเพิ่มขึ้นชิ้นละ 1 ปี รวมแล้วไม่เกิน 6 ปี โดยกิจการนี้ ที่ประชุมเห็นว่าผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทยที่มีศักยภาพที่จะทำการผลิตได้ ก็จะได้รับสิทธิประโยชน์ตามมาตรการส่งเสริมเอสเอ็มอี ซึ่งจะได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลมากกว่าเกณฑ์ปกติ 2 ปี
เลขาธิการบีโอไอ กล่าวถึงแนวโน้มการลงทุนปีนี้ว่าดีต่อเนื่องตั้งแต่ปลายปี 2559 โดยยอดยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุน 2 เดือนแรกใกล้เคียงช่วงเดียวกันปีที่ผ่านมา วงเงิน 30,510 ล้านบาท ด้วยนโยบายส่งเสริมการลงทุน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย เชื่อมั่นว่าตลอดปี 2560 จะมียอดยื่นโครงการขอรับส่งเสริมการลงทุนรวมไม่น้อยกว่า 600,000 ล้านบาท.-สำนักข่าวไทย