นนทบุรี 10 พ.ย. – กระทรวงพาณิชย์เชิญผู้ซื้อข้าวจากทั่วโลกเจรจาธุรกิจในไทยสัปดาห์หน้า เบื้องต้น ฮ่องกงเตรียมลงนามซื้อข้าวจากไทยกว่า 10,000 ตัน พร้อมระดมทุกภาคส่วนเปิดเวทีแลกเปลี่ยนและหาแนวทางแก้ปัญหาระยะยาว เน้นช่วยเกษตรกรไม่ให้ถูกกดราคาข้าว
นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ขณะนี้กระทรวงพาณิชย์เปิดพื้นที่ระบายข้าวให้กับเกษตรกรทุกช่องทาง ทั้งการจำหน่ายในร้านโชห่วย หรือค้าปลีกค้า-ส่งต้นแบบ ใน 65 จังหวัดทั่วประเทศ และสนับสนุนให้ขายข้าวผ่านเว็บไซต์ ThaiCommerceStore.com เพิ่มช่องทางการค้าออนไลน์ ขณะเดียวกันยังเดินหน้าโรดโชว์ออกไปขายข้าวต่างประเทศ โดยภายในปีนี้ยังมีแผนนำผู้ส่งออกข้าวไปเจรจากับผู้นำเข้าที่ประเทศมาเลเซีย อินโดนีเซีย และจีน ขณะที่อิหร่านจะเดินทางมาไทยกลางเดือนพฤศจิกายนนี้ เพื่อตรวจสอบคุณภาพข้าวไทยและดึงตลาดกลับคืน จากเดิมอิหร่านนำเข้าข้าวไทยปีละประมาณ 700,000 ตัน แต่ชะลอในช่วงที่ไทยใช้โครงการรับจำนำ เนื่องจากคุณภาพข้าวไทยด้อยลง
นอกจากนี้ สัปดาห์หน้าจะมีผู้นำเข้าข้าว-มันสำปะหลังรายสำคัญตอบรับเข้าร่วมกิจกรรมการเจรจาธุรกิจในไทยกว่า 300 ราย จาก 29 ประเทศ โดยเฉพาะฮ่องกงจะมีผู้นำเข้าเดินทางรวม 37 ราย พร้อมลงนามระหว่างนักธุรกิจฮ่องกงกับผู้ส่งออกข้าวไทยซื้อข้าวกับไทยรวม 4 ฉบับ ประกอบด้วย ลงนามซื้อข้าวหอมมะลิไทย ปริมาณ 10,000 ตัน ซื้อข้าวการ์บ้า GABA rice เป็นข้าวสุขภาพ ปริมาณ 100 ตัน ข้าวไรซ์เบอรี่ และเส้นก๋วยเตี๋ยว ปริมาณ 600 ตัน และข้าวไรซ์เบอรี่ อีก 400 ตัน ทำให้คาดว่าปีนี้ ไทยจะสามารถส่งออกข้าวไปฮ่องกงได้กว่า 195,000 ตัน ขยายตัวร้อยละ 8 ตามเป้าหมาย และยังเป็นการเปิดเจรจาเพิ่มในการสั่งซื้อมันสำปะหลังของไทย ซึ่งการลงนามขายข้าวและมันสำปะหลังครั้งนี้ไทยจะได้รับเงินจากการขายกว่า 60,000 ล้านบาท
ส่วนแผนระยะยาวในการแก้ไขปัญหาราคาข้าวนั้น ยังคงเดินหน้าตามแผนการทำนาแปลงใหญ่ การทำเกษตรผสมผสาน และการสนับสนุนชาวนาปลูกข้าวอินทรีย์ เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมอบให้องค์การคลังสินค้า (อคส.) ไปศึกษาการจัดตั้งตลาดกลางข้าวสารทั้งขายส่งและขายปลีก รวบรวมข้าวสารจากทั่วประเทศ พร้อมมีเครื่องมือที่ทันสมัย เพื่อให้เป็นศูนย์กลางอำนวยความสะดวกให้กับผู้ซื้อจากทั้งในและต่างประเทศเข้ามาซื้อ-ขายข้าวที่ได้มาตรฐานและคุณภาพระยะยาว พร้อมทั้งเร็ว ๆ นี้มีแผนที่จะจัดประชุม ฟอรั่ม ระหว่างวันที่ 28-30 พฤษภาคม 2560 โดยเปิดเวทีให้ภาครัฐ ภาคเอกชน นักวิชาการ และชาวนา มาระดมความเห็นการแก้ไขปัญหาแบบครบวงจร เน้นการบริหารจัดการข้าว ป้องกันการถูกกดราคา เพื่อแก้ปัญหาไม่ให้เกิดซ้ำทุกปี แต่จะต้องให้ได้แผนการทำงานแบบปีต่อปีด้วย เนื่องจากแผนระยะยาวจะเห็นผลใน 3 – 5 ปีข้างหน้า .-สำนักข่าวไทย