สุราษฎร์ธานี 22 มี.ค. – Full Moon Party กิจกรรมท่องเที่ยวที่เกาะพะงัน จ.สุราษฎร์ธานี มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักทั่วโลก ทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวที่มาเยือนเกาะพะงันเพิ่มขึ้นทุกปี ปัญหาที่ตามมา คือ การขาดแคลนน้ำ ล่าสุดกรมชลประทานมีแผนศึกษาความเป็นไปได้ที่จะสร้างเขื่อนใต้ดิน เพื่อกักเก็บน้ำที่เกาะพะงัน เขื่อนที่ว่านี้หน้าตาเป็นอย่างไร ติดตามจากรายงาน
“เขื่อนใต้ดิน” เป็นเทคโนโลยีของประเทศญี่ปุ่น ซึ่งสร้างเสร็จและใช้งานได้จริงแล้วถึง 14 แห่ง และอยู่ระหว่างก่อสร้างอีก 4 แห่ง ถ้าสร้างขึ้นที่เกาะพะงัน ก็จะเป็นแห่งแรกในประเทศไทย ซึ่งจากการศึกษาพบว่า พื้นที่บริเวณบ้านโฉลกหลำ-บ้านเก่า ต.เกาะพะงัน มีความเหมาะสมทั้งด้านธรณีวิทยาและอุทกวิทยา โดยสร้างเป็นเขื่อนกั้นน้ำใต้ดิน ความยาวประมาณ 1,200 เมตร หนา 80 เซนติเมตร ลึกจากผิวดิน 36 เมตร มีลักษณะเหมือนฝายน้ำล้น ขอบบนอยู่ต่ำกว่าระดับพื้นดิน 6 เมตร กั้นทางไหลลงทะเลของแหล่งน้ำใต้ดิน ซึ่งจะทำให้สามารถกักเก็บน้ำไว้ได้ปีละ 150,000-180,000 ลูกบาศก์เมตร
ข้อดี คือ ระหว่างการก่อสร้างจะเปิดหน้าดินกว้างเพียง 6 เมตร และไม่ต้องเวนคืนพื้นที่บนดิน โดยยังใช้ประโยชน์ทำการเกษตรได้ตามปกติ เพียงแต่ไม่ให้ใช้สารเคมี เพราะจะซึมลงปนเปื้อนแหล่งน้ำใต้ดิน
ตัวเลขประชากรตามทะเบียนราษฎร์ของ อ.เกาะพะงัน มีเพียง 16,700 คนเท่านั้น แต่จำนวนนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติที่มาเยือนเกาะในอ่าวไทยแห่งนี้ มีมากกว่า 1 ล้านคน/ปี ธุรกิจท่องเที่ยวจึงเป็นรายได้หลัก และก็เหมือนพื้นที่เกาะกลางทะเลทั่วไป ปัญหาใหญ่ของที่นี่ คือ ขาดแคลนน้ำจืด แม้เป็นพื้นที่ป่า มีลำธารและคลองหลายสาย แต่เนื่องจากสภาพพื้นที่เป็นภูเขาสูงสลับซับซ้อน ทำให้น้ำส่วนใหญ่ไหลลงทะเลอย่างรวดเร็ว
นอกจากเขื่อนใต้ดินแล้ว กรมชลประทานได้ศึกษาโครงการสร้างอ่างเก็บน้ำธารประเวศ ความจุ 1.13 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งมีความเป็นไปได้มากที่จะก่อสร้างเสร็จภายใน 5 ปี
อย่างไรก็ตาม หากสร้างทั้งอ่างเก็บน้ำธารประเวศและเขื่อนใต้ดินแล้ว เกาะพะงันก็อาจมีน้ำใช้เพียงพอไปอีกราว 5 ปีเท่านั้น กรมชลประทานจึงศึกษาโครงการอื่น เช่น อ่างเก็บน้ำธารเสด็จตอนบน ซึ่งจะเก็บน้ำได้ถึง 3 ล้านลูกบาศก์เมตร เพียงพอใช้ได้อีก 20 ปี แต่เมื่อถึงจุดหนึ่ง คงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องพิจารณาจำกัดจำนวนนักท่องเที่ยวให้เหมาะสมกับทรัพยากรและสาธารณูปโภคที่มีจำกัด. – สำนักข่าวไทย