เสียมราฐ 21 ธ.ค.- รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เตรียมร่วมประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศกรอบความร่วมมือแม่โขง – ล้านช้าง ครั้งที่ 2 ณ เมืองเสียมราฐ ประเทศกัมพูชา เพื่อติดตามความคืบหน้าของกรอบความร่วมมือด้านต่าง ๆ พร้อมหารือแนวทางขับเคลื่อนในอนาคตระหว่างประเทศสมาชิก
นายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ มีกำหนดเข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศกรอบความร่วมมือแม่โขง – ล้านช้าง ครั้งที่ 2 ในวันที่ 23 ธันวาคม 2559 ที่เมืองเสียมราฐ ประเทศกัมพูชา ที่ประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศกรอบความร่วมมือแม่โขง – ล้านช้าง ครั้งที่ 2 นี้ ประเทศกัมพูชาและสาธารณรัฐประชาชนจีน เป็นประธานร่วม โดยจะติดตามความคืบหน้าของการดำเนินการตามวิสัยทัศน์และข้อริเริ่มที่เป็นผลลัพธ์จากการประชุมผู้นำกรอบความร่วมมือแม่โขง – ล้านช้าง ครั้งที่ 1 ในเรื่องต่าง ๆ โดยเฉพาะการสร้างกลไกการทำงานในสาขาที่ผู้นำเห็นพ้องให้ความสำคัญเป็นลำดับต้น และการดำเนินโครงการเร่งด่วนตามรายการโครงการซึ่งที่ประชุมผู้นำให้ความเห็นชอบ รวมทั้งหารือแนวทางขับเคลื่อนความร่วมมือในอนาคตระหว่างประเทศสมาชิกภายใต้กรอบความร่วมมือแม่โขง – ล้านช้าง เพื่อรักษาพลวัตให้มีความต่อเนื่องและเกิดผลเป็นรูปธรรม
วันพรุ่งนี้ (22 ธ.ค.) จะมีการประชุมของคณะทำงานการทูต และการประชุมร่วมระหว่างคณะทำงานการทูตและคณะทำงานรายสาขากรอบความร่วมมือแม่โขง – ล้านช้าง จากนั้นในช่วงบ่าย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ จะเดินทางถึง เมืองเสียมราฐ ประเทศกัมพูชา และจะมีงานเลี้ยงอาหารค่ำต้อนรับโดยรัฐมนตรีอาวุโสและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของกัมพูชาเป็นเจ้าภาพในช่วงค่ำ
อย่างไรก็ตาม กรอบความร่วมมือแม่โขง – ล้านช้าง ก่อตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการจากที่ประชุมผู้นำกรอบความร่วมมือแม่โขง – ล้านช้าง ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2559 ที่เมืองซานย่า มณฑลไห่หนาน สาธารณรัฐประชาชนจีน โดยนายกรัฐมนตรีไทยและจีนเป็นประธานร่วมกัน และมีประเทศในลุ่มน้ำโขงอีก 4 ประเทศร่วมเป็นสมาชิก ได้แก่ กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา และเวียดนาม มีวัตถุประสงค์เพื่อการพัฒนาอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงอย่างยั่งยืน ลดความเหลื่อมล้ำด้านการพัฒนาระหว่างประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง และระหว่างอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงกับภูมิภาคอื่น ๆ รวมทั้งเพื่อส่งเสริมความแข็งแกร่งให้กับประชาคมอาเซียนในภาพรวม ซึ่งในระยะเวลาที่ผ่านมา ความร่วมมือในกรอบแม่โขง – ล้านช้าง ได้เน้นการดำเนินการให้เกิดผลลัพธ์อย่างเป็นรูปธรรม โดยส่งเสริมเติมเต็มและต่อยอดการสร้างคุณค่าเพิ่มให้กับการดำเนินการที่มีอยู่แล้วในกรอบความร่วมมืออื่น ๆ อีกทั้งยังมุ่งดำเนินการเพื่อขับเคลื่อนการอนุวัติวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. 2030 และเป็นตัวอย่างที่ดีของความร่วมมือระหว่างประเทศกำลังพัฒนาในลักษณะใต้ –ใต้อีกด้วย.-สำนักข่าวไทย