กัมพูชา 27 ธ.ค.-ที่ประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศกรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง ครั้งที่ 2 มีความคืบหน้าในเรื่องต่างๆ โดยเฉพาะการบริหารจัดการน้ำ เตรียมตั้งศูนย์ความร่วมมือด้านทรัพยากรน้ำ เพื่อบริหารจัดการน้ำในแม่น้ำโขง
แม่น้ำโขง หรือที่ชาวจีนเรียกกันว่า แม่น้ำล้านช้าง เป็นแม่น้ำสายสำคัญที่หล่อเลี้ยง และเชื่อมต่อวิถีชีวิตของประชาชนใน 6 ประเทศอย่างแน่นแฟ้น ตั้งแต่จีน เมียนมาร์ ลาว ไทย กัมพูชา และออกสู่ทะเลจีนใต้ที่ประเทศเวียดนาม จากหุ้นส่วนความร่วมมือโดยธรรมชาติ สู่ความร่วมมือระดับประเทศเป็นที่มาของกรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง
การประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศกรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 2 ที่เสียมราฐ ประเทศกัมพูชา ครั้งนี้ จีนและกัมพูชาเป็นประธานร่วม เพื่อติดตามความคืบหน้าของผลลัพธ์การประชุมผู้นำ ครั้งที่ 1 ครอบคลุม 3 เสาหลัก ได้แก่ การเมืองและความมั่นคง เศรษฐกิจและการพัฒนาอย่างยั่งยืน สังคม วัฒนธรรม และปฏิสัมพันธ์ระหว่างประชาชน รวมทั้งใน 5 สาขาที่สำคัญ ได้แก่ ความเชื่อมโยง ศักยภาพในการผลิต ความร่วมมือเศรษฐกิจข้ามพรมแดน ทรัพยากรน้ำ รวมทั้งการเกษตรและการลดความยากจน โดยดำเนินโครงการเร่งด่วนผ่านคณะทำงานรายสาขารวม 6 คณะ ที่จัดตั้งขึ้นสอดคล้องกับหลักการที่ประเทศสมาชิกได้หารือกัน
หนึ่งในความร่วมมือที่สำคัญ คือ การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืน ที่จะมีศูนย์ความร่วมมือด้านทรัพยากรน้ำในแม่น้ำโขง มีระบบแลกเปลี่ยนข้อมูลโดยเชื่อมโยงกับศูนย์บริหารจัดการน้ำในแต่ละประเทศ
ที่ประชุมยังให้ความสำคัญกับการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมลุ่มแม่น้ำโขง โดยคณะทำงานทั้ง 6 ชุด จะขับเคลื่อนความร่วมมือให้คืบหน้าภายใน 6 เดือน เพื่อนำเสนอต่อการประชุมระดับรัฐมนตรีต่างประเทศครั้งต่อไปในปี 2017 และการประชุมระดับสุดยอดผู้นำที่นายกรัฐมนตรีจะมาร่วมประชุมที่ประเทศกัมพูชาในช่วงต้นปี 2018 เพื่อผลักดันให้บรรลุเป้าหมายขององค์การสหประชาชาติ ที่ให้มีการพัฒนาอย่างยั่งยืน ปี 2030 และเป็นโอกาสของไทยในการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้เพื่อพัฒนาอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงให้แก่สมาชิกในกลุ่มด้วย.-สำนักข่าวไทย