นนทบุรี 14 มี.ค. – การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เตรียมออกฉลากเบอร์ 5 เสื้อประหยัดพลังงาน คาดปีนี้อากาศร้อนพีกไฟฟ้าทะลุ 3 หมื่นเมกะวัตต์ พร้อมให้ความร่วมมือ คสช.สร้างความรับรู้โรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ที่คาดว่าจะเริ่มเปิดรับฟังความเห็น 27 มี.ค.นี้
นายสถิตย์ สุขอนันต์ ผู้อำนวยการฝ่ายปฏิบัติการด้านการใช้ไฟฟ้า กฟผ. กล่าวว่า กฟผ.เตรียมออกฉลากเบอร์ 5 เพิ่มอีกอย่างน้อย 2 รายการ ได้แก่ เสื้อเบอร์ 5 และเครื่องซักผ้าฝาบน 2 ฝา ซึ่งเป็นนโยบายของ กฟผ.ที่จะรณรงค์เรื่องปลูกจิตสำนึกและปรับการผลิตสินค้า เพื่อประหยัดพลังงานมาอย่างต่อเนื่อง โดย ดำเนินการส่งเสริมฉลากเบอร์ 5 มานาน 23-24 ปีแล้ว ที่ผ่านมามี 28 ฉลาก ประเมินแล้วช่วยประหยัดพลังงานไม่ต้องก่อสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ถึง 4,000 เมกะวัตต์ รวมเป็นเงิน 120,000 ล้านบาท
“นโยบายเสื้อเบอร์ 5 เป็นนโยบายของนายกรศิษฏ์ ภัคโชตานนท์ ผู้ว่าฯ กฟผ.ที่ต้องการให้ กฟผ.ร่วมรณรงค์ ประหยัดพลังงานที่ กฟผ.ทำควบคู่การสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน ซึ่งขณะนี้มีสถาบันสิ่งทอ โรงงานผู้ผลิต 10 แห่ง ตอบรับเข้าร่วมโครงการ และจะจัดการประกวดเสื้อเบอร์ 5 ซึ่งจะคำนึงถึงหลักการผลิตและการใช้ที่ประหยัดพลังงาน เช่น คำนวณจากอัตราการยับ หากผ้ายับน้อยก็จะประหยัดพลังงานมากขึ้น”นายสถิตย์ กล่าว
นายธาตรี ริ้วเจริญ ผู้ช่วยผู้ว่าการกิจการสังคม กฟผ.กล่าวว่า ขณะนี้อากาศเริ่มร้อนจัดอุณภูมิใน กทม.และปริมณฑล กว่า 36 องศาเซลเซียส ทาง กฟผ.คาดว่าความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด (Peak) ปี 2560 คาดการณ์ไว้ที่ 30,086 เมกะวัตต์ อาจจะเกิดขึ้นเดือนพฤษภาคม ซึ่งทุกปี Peak จะเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 3-4 ต่อปี โดย Peak ปี 2559 อยู่ที่ 29,619 เมกะวัตต์ กฟผ.ได้จัดทำแผนรณรงค์ประหยัดพลังงานต่อเนื่อง ล่าสุดร่วมกับหน่วยงาน จัดงาน Thailand Energy Efficiency week 2017 วันที่ 11-13 พฤษภาคมนี้ ที่ เมืองทองธานี ซึ่งจะมีนวัตกรรมอนุรักษ์พลังงาน การจับคู่ทางธุรกิจ คาดจะมีผู้เข้าร่วมงานกว่า 20,000 รายทั่วโลก
นายธาตรี กล่าวด้วยว่า กฟผ.พร้อมสนับสนุน คสช.ในการจัดรับฟังและทำความเข้าใจโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ ซึ่งขณะนี้รอความชัดเจนว่าจะจัดขึ้นเมื่อใด ซึ่งทราบว่าจะดำเนินการให้เสร็จสิ้นภายใน 1 เดือน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เบื้องต้น ทาง คสช.เตรียมแผนชี้แจงและรับฟังความเห็นจากประชาชน 14 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยให้ส่งตัวแทนเข้าร่วมงาน ซึ่งจะมีเวทีรับฟังใน 3 พื้นที่ ได้แก่ สุราษฎร์ธานี กระบี่ และ สงขลา อาจเริ่มวันที่ 27 มีนาคมนี้ ซึ่งการรับฟังความคิดเห็นรูปแบบนี้จะแตกต่างจากการจัดรับฟังความคิดเห็นตามข้อกำหนดการจัดทำผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (อีไอเอ,อีเอชไอเอ) ที่กำหนดรับฟังจากประชาชนในพื้นที่เท่านั้น. – สำนักข่าวไทย