เพชรบุรี 6 ม.ค. – กรมฝนหลวงและการบินเกษตรตั้งเป้าปฏิบัติการฝนหลวงปีนี้ 4,500 – 5,000 เที่ยวบิน เพื่อช่วยเหลือพื้นที่เพาะปลูกพืชของเกษตรกร พร้อมวิจัยนำอากาศยานไร้คนขับช่วยทำฝนหลวงในพื้นที่ยากแก่การเข้าถึง
นายสุรสีห์ กิตติมณฑล อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร กล่าวถึงแผนการปฏิบัติการฝนหลวงปี 2560 ว่า ตั้งเป้าปฏิบัติการฝนหลวงปีนี้ 4,500 – 5,000 เที่ยวบิน เพื่อช่วยเหลือพื้นที่เพาะปลูกพืชของเกษตรกร ด้วยการขับเคลื่อนผ่านศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงประจำภาคทั้ง 5 ศูนย์ ผ่านหน่วยปฏิบัติการฝนหลวง 10 – 12 หน่วยปฏิบัติการ ครอบคลุม 25 ลุ่มน้ำหลัก ในพื้นที่ 77 จังหวัด ตามแผนปฏิบัติการ แบ่งแผนการป้องกันและแก้ไขภัยแล้งออกเป็น 3 ระยะ คือ ระยะที่ 1 ช่วงเดือนตุลาคม 2559 – กุมภาพันธ์ 2560 เป็นช่วงฤดูหนาว ซึ่งปกติจะหยุดปฏิบัติการฝนหลวงประจำปีประมาณเดือนพฤศจิกายนเป็นต้นไป แต่ เนื่องจากสภาพอากาศมีความชื้นต่ำกว่าเกณฑ์ที่เหมาะสม จึงตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงเคลื่อนที่เร็วที่สนามบินจังหวัดนครสวรรค์ พร้อมจะเดินทางไปปฏิบัติการฝนหลวงช่วยเหลือตามการร้องขอของศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงทั้ง 5 ศูนย์ ในช่วงที่มีสภาพอากาศเหมาะสมเป็นระยะสั้น ๆ
ส่วนระยะ 2 ช่วงเดือนมีนาคม – เมษายน 2560 เน้นปฏิบัติการฝนหลวง เพื่อสร้างความชุ่มชื้นให้กับพื้นที่เกษตรกรรมและป่าไม้ โดยเริ่มจากบริเวณลุ่มน้ำเจ้าพระยาตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ และขยายพื้นที่ช่วยเหลือบริเวณลุ่มน้ำและภาคอื่น ๆ ตามความเหมาะสมของสภาพอากาศ โดยมีเป้าหมายช่วยเหลือการเพาะปลูกพืชฤดูแล้ง เช่น ข้าวนาปรัง ไม้ผล และไม้ยืนต้น และระยะ 3 ช่วงเดือนพฤษภาคม – กันยายน 2560 เน้นปฏิบัติการฝนหลวง เพื่อเพิ่มปริมาณน้ำฝนให้พื้นที่เกษตรกรรมช่วงเริ่มฤดูเพาะปลูกพืชเศรษฐกิจประจำปีเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้ง เนื่องจากฤดูฝนล่าช้ากว่าปกติ หรือฝนทิ้งช่วงระหว่างฤดูเพาะปลูก
ขณะที่แผนการเติมน้ำต้นทุนให้เขื่อนกักเก็บน้ำช่วงเดือนสิงหาคม – ตุลาคม 2560 เป็นการปฏิบัติการฝนหลวงเพิ่มปริมาณน้ำเก็บกักให้กับเขื่อนต่าง ๆ ทั่วประเทศ เพื่อสำรองไว้เป็นน้ำต้นทุนในการบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูแล้งที่จะมาถึงและเพื่อสาธารณะประโยชน์ต่าง ๆ ซึ่งส่วนใหญ่จะปฏิบัติการจนถึงประมาณกลางเดือนตุลาคม
ด้านแผนบรรเทาปัญหาหมอกควันและไฟป่า เน้นเฝ้าระวังพื้นที่ภาคเหนือช่วงเดือนมีนาคม – เมษายน 2560 และภาคใต้ช่วงเดือนตุลาคม 2559 – พฤศจิกายน 2559 และช่วงเดือนพฤษภาคม 2560 – มิถุนายน 2560 โดยปฏิบัติการฝนหลวงและดัดแปรสภาพอากาศ เพื่อลดความหนาแน่นของหมอกควัน รวมทั้งการเพิ่มความชุ่มชื้นให้กับพื้นที่ป่าไม้
สำหรับระยะเวลาดำเนินการปฏิบัติการฝนหลวง ประจำปีงบประมาณ 2560 ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคใต้ (หน่วยฯ สุราษฎร์ธานี/นครศรีธรรมราช หน่วยฯ หัวหิน/ชุมพร และหน่วยฯ สงขลา) หน่วยฯ สุราษฎร์ธานี ปฏิบัติงานระหว่างวันที่ 1 มีนาคม – 31 พฤษภาคม 2560 และ 1 สิงหาคม – 31 ตุลาคม 2560 หน่วยฯ นครศรีธรรมราช ปฏิบัติงานระหว่างวันที่ 1 มิถุนายน – 31 กรกฎาคม 2560 หน่วยฯ หัวหิน ปฏิบัติงานระหว่างวันที่ 1 มีนาคม – 31 พฤษภาคม 2560 และ 1 สิงหาคม – 31 ตุลาคม 2560 หน่วยฯ ชุมพร ปฏิบัติงานระหว่างวันที่ 1 มิถุนายน – 31 กรกฎาคม 2560 และหน่วยฯ สงขลา ปฏิบัติงานระหว่างวันที่ 1 มีนาคม – 31 ตุลาคม 2560
“การวางแผนจัดตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงของศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงประจำภาคทั้ง 5 ภาค มีเป้าหมายเพื่อเพิ่มจำนวนพื้นที่ที่ได้รับประโยชน์จากการปฏิบัติการฝนหลวงให้สูงขึ้นและให้มีจำนวนวันฝนตกลงสู่พื้นที่เป้าหมายมากขึ้น เพื่อให้สามารถช่วยเหลือเกษตรกรได้อย่างมีประสิทธิผลและครอบคลุมพื้นที่แห้งแล้งทั่วประเทศ โดยกำหนดเขตพื้นที่รับผิดชอบทำการบินปฏิบัติการฝนหลวงตามแผนและตามที่ได้รับการร้องขอในพื้นที่เป้าหมาย” อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร กล่าว
ทั้งนี้ กรมฝนหลวงฯ เตรียมการดำเนินการจัดสร้างศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงที่จังหวัดพิษณุโลกและบุรีรัมย์ คาดว่าจะเสร็จภายในปี 2562 ขณะที่แผนยุทธศาสตร์ 5 ปี ตั้งเป้าแก้ปัญหาภัยแล้งไม่ต่ำกว่า ร้อยละ 90 พร้อมกันนี้เตรียมพัฒนาประยุกต์ใช้จรวดในการดัดแปรสภาพอากาศและนำอากาศยานไร้คนขับมาประยุกต์ใช้ เพื่อสนับสนุนภารกิจด้านการปฏิบัติการฝนหลวงและการบินเกษตรในพื้นที่ที่เครื่องบินไม่สามารถเข้าไปปฏิบัติการได้ ถ้าปีนี้ประสบความสำเร็จก็พร้อมใช้ดำเนินการปีหน้าทันที.-สำนักข่าวไทย