กรุงเทพฯ 20 มี.ค.- เลขาธิการสทนช. เผย เตรียม 10 มาตรการรับฤดูฝนเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการน้ำแห่งชาติ ย้ำ ต้องเตรียมรับทั้งภาวะฝนทิ้งช่วงบางพื้นที่ควบคู่กับรับฝนตกมากบางพื้นที่เนื่องจากจะเข้าสู่สภาวะลาณีญา ส่วนช่วงปลายฤดูแล้งนี้ ขอเกษตรกรไม่ทำนาปรังรอบ 2 เหตุไม่มีน้ำจัดสรรให้
ดร. สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กล่าวว่า เตรียม 10 มาตรการรับฤดูฝนเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการน้ำแห่งชาติในวันที่ 29 มีนาคมนี้ โดยต้องเตรียมพร้อมรับสภาวะลานีญา ซึ่งคาดว่า จะทำให้ในเดือนมิถุนายนและกรกฎาคมมีปริมาณฝนสูงกว่าค่าปกติจึงอาจส่งผลให้มีน้ำท่วมขังบางพื้นที่ ขณะเดียวกันต้องเตรียมพร้อมรองรับสถานการณ์ ฝนทิ้งช่วงในบางพื้นที่ด้วยเช่นกัน
ทั้งนี้จะส่งน้ำให้พื้นที่ลุ่มต่ำลุ่มเจ้าพระยาทำนาปรังได้ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคมเพื่อที่จะเก็บเกี่ยวได้ทันก่อนน้ำหลาก
ขณะนี้เหลือเวลาเพียงเดือนเศษจึงจะสิ้นสุดฤดูแล้ง แต่พบว่า มีการใช้น้ำเกินกว่าแผน ไปแล้ว 2,000 ล้านลูกบาศก์เมตรเนื่องจากข้าวราคาดี เกษตรกรจึงทำนาปรังเกินกว่าแผน เพราะปลูกพืชฤดูแล้ง โดยพบว่า มีนาปรับ เกินว่าแผนไปแล้ว 2 ล้านกว่าไร่ซึ่งส่วนใหญ่ อยู่ในลุ่มเจ้าพระยา
ปัจจุบัน มีพื้นที่ประกาศ ภัยพิบัติแล้ง 4 จังหวัด 8 อำเภอ 23 ตำบล จังหวัดที่ประกาศเป็นพื้นที่ภัยพิบัติแล้งได้แก่ กาญจนบุรี นครสวรรค์ ชลบุรี และประจวบคีรีขันธ์
ตั้งแต่ต้นปี 2567 จนถึงปัจจุบันปริมาณฝนต่ำกว่าค่าปกติถึงร้อยละ 49 เนื่องจากสภาวะเอลนีโญ แต่จากการบริหารจัดการตามแผนที่วางไว้ ทำให้ ปริมาณน้ำในเขื่อนไม่เกิดวิกฤติ โดยเขื่อนขนาดใหญ่ที่ต้องเฝ้าระวังเนื่องจากมีปริมาณน้ำน้อยกว่าร้อยละ 30 มี 4 เขื่อนได้แก่ สิริกิติ์ กระเสียว จุฬาภรณ์ และคลองสียัด โดยหวังว่า เมื่อปริมาณฝน เพิ่มขึ้นจากสภาวะ ลาณียา จะช่วย เพิ่มปริมาณน้ำในเขื่อนเหล่านี้ รวมถึงเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนในอ่างเก็บน้ำทั่วประเทศ.- 512-สำนักข่าวไทย