กรุงเทพฯ 8 ม.ค. – เงินบาทสัปดาห์แรกปี 60 ยังคงแข็งค่า ขณะที่ดัชนีหุ้นไทยปรับเพิ่มขึ้นท่ามกลางแรงซื้อของนักลงทุนต่างชาติ สัปดาห์หน้าจับตาถ้อยแถลงเฟด-นโยบายว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐ
ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) สรุปความเคลื่อนไหวค่าเงินบาทสัปดาห์แรกของปี 2560 ว่า แข็งค่าต่อเนื่อง ทดสอบระดับ 35.70 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ท่ามกลางสถานะซื้อสุทธิหุ้นไทยของนักลงทุนต่างชาติ ขณะที่ เงินดอลลาร์ฯ เคลื่อนไหวทิศทางอ่อนค่าตามการปรับโพสิชั่นของนักลงทุนก่อนการประกาศตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรของสหรัฐ รวมถึงแรงขายเมื่อเทียบกับเงินหยวน หลังจากธนาคารกลางจีนประกาศอัตราอ้างอิงค่าเงินหยวนประจำวันในระดับที่แข็งค่าขึ้น ซึ่งเป็นทิศทางสอดคล้องกับการปรับตัวขึ้นของอัตราดอกเบี้ยสกุลเงินหยวนในตลาดออฟชอร์ โดยวันศุกร์ที่ 6 มกราคมที่ผ่านมา เงินบาทอยู่ที่ 35.68 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าเมื่อเทียบกับระดับ 35.80 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ในวันศุกร์ที่ 30 ธันวาคม 2559
สำหรับสัปดาห์หน้า (9-13 ม.ค.) ธนาคารกสิกรไทยประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทที่ 35.60-35.90 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ จุดสนใจของตลาดน่าจะอยู่ที่ถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่เฟดและการแถลงข่าวของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐ ขณะที่ข้อมูลเศรษฐกิจที่สำคัญของสหรัฐ ได้แก่ ยอดค้าปลีก ดัชนีราคาผู้ผลิต เดือนธันวาคม สตอกสินค้าคงคลังภาคธุรกิจเดือนพฤศจิกายน ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค (เบื้องต้น) เดือนมกราคม นอกจากนี้ ตลาดอาจรอติดตามสถานการณ์ค่าเงินหยวนและตัวเลขเศรษฐกิจเดือนธันวาคมของจีนด้วยเช่นกัน
ด้านบริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด สรุปความเคลื่อนไหวดัชนีหุ้นไทยสัปดาห์ที่ผ่านมา (4-6 ม.ค.) ว่า ปรับเพิ่มขึ้นมีแรงหนุนจากการซื้อหุ้นของนักลงทุนต่างชาติ โดยดัชนี SET ปิดที่ระดับ 1,571.48 จุด เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.85 จากสัปดาห์ก่อน มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 107.32 จากสัปดาห์ก่อน มาที่ 65,220.57 ล้านบาท ส่วนตลาดหลักทรัพย์ MAI ปิดที่ 632.90 จุด เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.70 จากสัปดาห์ก่อน ตลาดหุ้นไทยเปิดทะยานขึ้นในวันพุธก่อนที่จะขยับขึ้นต่อเนื่องในช่วงที่เหลือของสัปดาห์ ท่ามกลางการปรับขึ้นของหุ้นขนาดใหญ่ ขณะที่นักลงทุนต่างชาติทยอยกลับเข้าซื้อหุ้นไทยอีกครั้ง สวนทางกับการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐ หลังบันทึกการประชุมเฟดยังคงส่งสัญญาณถึงการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยแบบค่อยเป็นค่อยไป
ส่วนสัปดาห์หน้า (9-13 ม.ค.) มองว่าดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,550 และ 1,535 จุด ขณะที่แนวต้านอยู่ที่ 1,580 และ 1,590 จุด ตามลำดับ โดยปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่เฟด ขณะที่ ข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐที่สำคัญ ได้แก่ ยอดค้าปลีก และความเชื่อมั่นของผู้บริโภค (เบื้องต้น) ส่วนปัจจัยต่างประเทศอื่น ๆ ที่น่าสนใจ ได้แก่ ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมในยูโรโซน และข้อมูลการค้าของจีน.-สำนักข่าวไทย