สธ.10 ม.ค.-ปลัด สธ.ประชุมคอนเฟอเรนซ์ร่วมกับพื้นที่ประสบภัยน้ำท่วมในภาคใต้ ย้ำมีแค่ รพ.บางสะพาน ที่ต้องปิดบริการชั่วคราว พร้อมสั่ง อภ.เร่งนำยา สิ่งของจำเป็นสำหรับใช้น้ำท่วม ลงไปแจกจ่าย 1 แสนชุด พร้อมเตรียมนำทีมแพทย์ 30-40 ทีม ลงไปหมุน หวั่นบุคลากรในพื้นที่อ่อนล้า ทั้งบ้านเรือนตัวเองน้ำท่วม และยังต้องปฏิบัติงานแบบต่อเนื่อง
นพ.โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวภายหลังประชุมระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ ร่วมกับนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดในพื้นที่ภาคใต้ที่ประสบภัยน้ำท่วม ว่า จากการหารือและสอบถามสถานการณ์ในทุกพื้นที่ พบว่าขณะนี้มีสถานพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขที่ได้รับผลกระทบจำต้องปิดการให้บริการชั่วคราว เนื่องจากภาวะน้ำท่วมสูงได้แก่ รพ.บางสะพาน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เพียงแห่งเดียว และได้ย้ายไปให้บริการแบบ รพ.สนามนอกพื้นที่ ที่โรงเรียนบางสะพานวิทยา เนื่องจากเป็นที่เนินสูงเพียงแห่งเดียว ประกอบทุกพื้นที่ของอำเภอบางสะพานถูกน้ำท่วมทั้งหมด
สำหรับการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยได้กระทำตั้งแต่วานนี้ (9 ม.ค.)เวลา 21.00 น.โดยผู้ป่วยที่ทยอยเคลื่อนย้ายก่อนเป็นผู้ป่วยหนัก ส่วนวันนี้ (10 ม.ค.) เป็นการทยอยเคลื่อนผู้ป่วยที่ตกค้างประมาณ 38 คนด้วยรถทหาร ส่วนความเสียหายในพื้นที่อื่นที่เริ่มดีขึ้นได้แก่ รพ.หลังสวน จ.ชุมพร ที่ตอนแรกมีการปิดการให้บริการชั่วคราว ตอนนี้กลับมาให้บริการได้แล้ว
นพ.โสภณ กล่าวต่อว่า ต้องยอมรับสถานการณ์น้ำในพื้นที่ภาคใต้ขณะนี้ มีหลายพื้นที่ได้รับผลกระทบมาก บุคลากรในพื้นที่เอง บ้านตัวเองก็ได้รับผลกระทบน้ำท่วม แต่ยังต้องมาให้บริการประชาชน ซึ่งก็ห่วงกระทบสภาพจิตใจ จึงได้เตรียมจัดทีมแพทย์พยาบาลในพื้นที่ที่ไม่ประสบภัยน้ำท่วม อย่างภาคเหนือ อีสาน หรือโรงเรียนแพทย์ ลงไปในพื้นที่ สลับหมุนเวียนให้บริการ เพื่อให้บุคลลากรในพื้นที่ ได้มีเวลาพักผ่อน และกลับไปดูแลบ้านเรือนของตัวเองบ้าง เนื่องจากได้รับรายงานว่า ในโรงพยาบาลนครศรีธรรมราชมีบุคลากรได้รับผลกระทบน้ำท่วมถึง ร้อยละ75 บุคลากร สุราษฎร์ธานีได้รับผลกระทบ ร้อยละ 30 เบื้องต้นสั่งสำรองทีมแพทย์ไว้ 30-40 ทีม พร้อมอุปกรณ์การแพทย์ หากทางคมนาคมสะดวก จะส่งพื้นที่ทันที เนื่องจากตอนนี้ติดขัดบริเวณพื้นที่ประจวบคีรีขันธ์ที่มีน้ำท่วมสูงการเดินรถเป็นไปด้วยความลำบากและมีทีมแพทย์ จากโรงเรียนแพทย์ หรือสมาคมแพทย์ ลงไปสลับหมุนเวียน ล่าสุดทราบว่าขณะนี้ทราบว่ามีทีมแพทย์จากศิริราชพยาบาลลงไปให้การสนับสนุนในพื้นที่นครศรีธรรมราชแล้ว
สำหรับเรื่องยาและเวชภัณฑ์ สั่งการให้องค์การเภสัชกรรม จัดและสรรหายาสามัญประจำบ้าน และยาจำเป็นและสิ่งของจำเป็น ในช่วงน้ำท่วม ทั้ง ยากัน ยุง สารส้ม คลอรีน รองเท้าบู๊ท จำนวน 1 แสนชุด ไปแจกจ่ายในพื้นที่ให้เร็วที่สุด พร้อมเตรียมนำงบประมาณฉุกเฉิน 10 ล้านบาท สำหรับซ่อมแซมสถานพยาบาลเบื้องต้นก่อน และให้แต่ละพื้นที่ทำการประเมินความเสียหาย และรายงานกลับมายังส่วนกลาง เพื่อสรุปและจ้งให้รัฐมนตรีสาธารณสุขทราบต่อไป หากต้องการความช่วยเหลือเพิ่ม ส่วนการช่วยเหลือบุคคลากรในพื้นที่ ที่บ้านเรือนเสียหายจากน้ำท่วม ก็อาจมีการเสนอให้มีการบริจาคเงินช่วยเหลือเป็นการภายในในหมู่บุคลากรทางแพทย์ด้วยกัน
ส่วนการเฝ้าระวังโรคระบาด ทั้งตาแดง ฉี่หนู ไข้หวัด รวมถึงความเครียดที่อาจเกิดขึ้น ได้ประสาน กรมควบคุมโรค ให้จัดหน่วยสอบสวนโรค ลงพื้นที่เฝ้าระวังและให้นักจิตวิยาลงพื้นที่เยียวยาจิตใจประชาชน สำหรับประชาชนกระทรวงสาธารณสุขในพื้นที่ ขอให้ปฏิบัติตามสุขอนามัยเพื่อป้องกันโรค ทั้งการรับประทานอาหารร้อน ใช้ช้อนกลาง และหมั่นล้างมือ .-สำนักข่าวไทย