ท่าอากาศยานทหาร 2 14 พ.ย.-กองทัพอากาศจัดพิธีเทิดพระเกียรติ มหาราชา พระบิดาแห่งฝนหลวง 14 พ.ย. “พล.อ.อ.จอม” ยัน ทอ.เดินหน้าสนับสนุนโครงการฝนหลวง
พล.อ.อ.จอม รุ่งสว่าง ผู้บัญชาการทหารอากาศ เป็นประธานในพิธีเทิดพระเกียรติ มหาราชา พระบิดาแห่งฝนหลวง และพิธีถวายสัตย์ปฏิญาณสืบสานพระราชดำริของหน่วยบินปฏิบัติการฝนหลวงกองทัพอากาศ เนื่องในวัน “พระบิดาแห่งฝนหลวง” วันที่ 14 พฤศจิกายน ณ ท่าอากาศยานทหาร 2 กองบิน 6 ดอนเมือง โดยมีนักบินและเจ้าหน้าที่ประจำหน่วยบินฝนหลวงกองทัพอากาศ ร่วมพิธีอย่างพร้อมเพรียง อาทิ ฝูงบิน 461 กองบิน 46 พิษณุโลก, ฝูงบิน 231 กองบิน 23 อุดรธานี และฝูงบิน 501 กองบิน 5 ประจวบคีรีขันธ์
พล.อ.อ.จอม ให้สัมภาษณ์ภายหลังว่า พ.ศ.2498 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จพระราชดำเนินโดยเครื่องบินพระราชพาหนะของกองทัพอากาศไป
เยี่ยมราษฎรในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งประสบปัญหาภัยแล้ง โดยได้สังเกตบนท้องฟ้าว่ามีกลุ่มเมฆปริมาณมาก แต่ไม่สามารถเกิดเป็นฝนได้ จึงมีพระราชดำริว่า “น่าจะมีลู่ทางที่จะคิดค้นเทคนิคหรือวิธีการทางวิทยาศาสตร์ดัดแปลงสภาพอากาศมาช่วยให้เกิดการก่อตัวและรวมตัวของเมฆเพื่อให้เกิดฝนได้” ซึ่งกองทัพอากาศมีเครื่องบินขนาดใหญ่ มีกำลังบรรทุกสูง จึงได้ดัดแปลงเครื่องบินเข้าร่วมโครงการพระราชดำริฝนหลวง และทรงติดตามสภาพปัญหาภัยแล้งและความก้าวหน้าในการทำฝนหลวงอย่างต่อเนื่อง เพราะทรงห่วงใยคนไทย การจัดพิธีเทิดพระเกียรติ มหาราชา พระบิดาแห่งฝนหลวง ในวันนี้ จึงเป็นการยืนยันว่ากองทัพอากาศจะตั้งใจปฏิบัติภารกิจสนับสนุนโครงการพระราชดำริฝนหลวงต่อไป
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ทั้งนี้กองทัพอากาศได้สนับสนุนเครื่องบินเข้าร่วมปฏิบัติการฝนหลวง จำนวน 12 เครื่อง ประกอบด้วย เครื่องบินลำเลียงแบบที่ 2 ก (BT-67) จำนวน 4 เครื่อง เครื่องบินโจมตีทางธุรการ แบบที่ 2 (AU-23) จำนวน 6 เครื่อง และเครื่องบินโจมตีแบบที่ 7 (Alfa Jet) จำนวน 2 เครื่อง นอกจากนี้ยังสนับสนุนฐานปฏิบัติการให้กับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยเตรียมความพร้อมไว้ทั่วประเทศทั้งหมด 10 กองบินและโรงเรียนการบิน โดยแต่ละปี กองทัพอากาศขึ้นบินทำฝนหลวงประมาณ 700 เที่ยวบิน คิดเป็นเวลาเฉลี่ยประมาณ 800 ชั่วโมงบิน ใช้สารฝนหลวงประมาณ 1,000 ตันต่อปี ใช้พลุซิลเวอร์ไอโอไดด์ ปฏิบัติการภารกิจยับยั้งพายุลูกเห็บจำนวน 200 นัดต่อปี และพลุสารดูดความชื้น จำนวน 100 นัดต่อปี ซึ่งการปฏิบัติภารกิจดังกล่าวประสบความสำเร็จอย่างดี ทำให้เพิ่มปริมาณน้ำในเขื่อนและปริมาณน้ำฝนในพื้นที่การเกษตร สามารถบรรเทาความเดือดร้อนจากปัญหาภัยแล้งให้กับประชาชน.-สำนักข่าวไทย