ทำเนียบฯ 12 ม.ค.-นายกรัฐมนตรีเตรียมตั้ง 4 คณะกรรมการขับเคลื่อน ปยป. ย้ำ 5 ปีแรกจะต้องมีตัวชี้วัดการทำงานที่ชัดเจนเห็นผลเป็นรูปธรรม
นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุมคณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดิน ตามกรอบการปฏิรูประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความปรองดองสมานฉันท์ หรือ ปยป. ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ว่า ขณะนี้ยังไม่มีความชัดเจนว่าโครงสร้างการแต่งตั้งคณะกรรมการ ปยป.จะออกเป็นระเบียบ หรือคำสั่งตามมาตรา 44 แต่การประชุมครั้งนี้ได้วางกรอบการทำงานให้ความสำคัญตามที่นายกรัฐมนตรีตั้งเป้าว่าปี 2560 จะเป็นปีของการปฏิรูปการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติใน 20 ปีและการสร้างความปรองดองต้องนำไปสู่ไทยแลนด์ 4.0
นายสุวิทย์ กล่าวอีกว่า หลักการสำคัญที่นายกรัฐมนตรีมอบหมายเกี่ยวกับวาระการปฏิรูป คือ คณะกรรมการชุดนี้จะต้องคัดกรองวาระการปฏิรูปของสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และรัฐบาล ส่วนที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เสนอมา จะแยกเป็นหมวดหมู่ ทั้งการซ่อม เสริม และสร้าง จัดลำดับก่อนหลังทำเรื่องเร่งด่วนที่มีความเป็นไปได้ก่อน ซึ่งจะมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมา 4 คณะ ได้แก่ คณะกรรมการเตรียมการยุทธศาสตร์ชาติ / คณะกรรมการเตรียมการปฏิรูปประเทศ / คณะกรรมการเตรียมการสร้างความสามัคคีปรองดอง และคณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินเชิงยุทธศาสตร์ ซึ่งทั้งหมดจะขึ้นอยู่กับสำนักงานบริหารนโยบายของนายกรัฐมนตรี ทุกคณะมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน
นายสุวิทย์ กล่าวด้วยว่า ในที่ประชุมวันนี้มีการพิจารณาเรื่องระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ อีอีซี โดยนายกรัฐมนตรีเน้นย้ำให้เร่งดำเนินการเรื่องการจัดทำกฎหมาย ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือนมกราคมนี้ หากกฎหมายมีผลบังคับใช้ จะมีการตั้งคณะกรรมการอีอีซี และจะมีการออกสิทธิประโยชน์ให้กับนักลงทุน นอกจากนี้ยังเร่งโครงการต่าง ๆ ให้สำเร็จ 5 โครงการ ได้แก่ โครงการสนามบินอู่ตะเภา / ท่าเรือแหลมฉบัง / รถไฟฟ้าความเร็วสูง กรุงเทพ – ระยอง / อุตสาหกรรมไฮเทค / และโครงการเมืองใหม่ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง รวมทั้งเร่งรัดให้จัดทำแผนการใช้งบประมาณการจัดทำการลงทุนแบบกลุ่มจังหวัด 18 กลุ่มจังหวัด กว่าแสนล้าน ซึ่งแบ่งเป็นแผนพัฒนากลุ่มจังหวัดแบบบูรณาการ / กองทุนเอสเอ็มอีแบบกลุ่มจังหวัด และงบส่งเสริมและสร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจในประเทศ ที่เบื้องต้นอนุมัติแล้ว 1.1 แสนล้านบาท
“ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีวางกรอบการทำงานในทุกด้านว่าจะต้องมีตัวชี้วัดที่ชัดเจน โดยเฉพาะ 5 ปีแรกของยุทธศาสตร์ 20 ปี ที่จะต้องเห็นเป็นรูปธรรมออกมา อาทิ ตัวเลขความยากจนลดลงเหลือร้อยละ 7.4 / ลดความเหลื่อมล้ำในสังคม / การติดตั้งอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงให้ครบทุกพื้นที่” นายสุวิทย์ กล่าว.-สำนักข่าวไทย