ดินแดง18 ม.ค.-กรมการจัดหางาน ออกมาตรการเร่งด่วนเยียวยาลูกหนี้กองทุนเพื่อผู้รับงานไปทำที่บ้านที่ประสบอุทกภัยทางภาคใต้ พักชำระหนี้สมาชิกกองทุนฯเป็นระยะเวลา 6 เดือน โดยไม่คิดดอกเบี้ยในระหว่างการพักชำระหนี้
นายสิงหเดช ชูอำนาจ อธิบดีกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน กล่าวว่า จากการประชุมคณะกรรมการบริหารกองทุนเพื่อผู้รับงานไปทำที่บ้าน เมื่อวันที่ 17 ม.ค.ที่ผ่านมา คณะกรรมการฯได้มีมติช่วยเหลือลูกหนี้กองทุนเพื่อผู้รับงานไปทำที่บ้านที่ประสบอุทกภัยใน 12 จังหวัดภาคใต้ ได้แก่ พัทลุง นราธิวาส ยะลา สงขลา ปัตตานี ตรัง นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี ชุมพร ระนอง กระบี่และประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งจากข้อมูลกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ณ วันที่ 16 มกราคม 2560 พบว่ามีสถานประกอบการได้รับผล กระทบจากน้ำท่วม จำนวน 8,753 แห่ง ลูกจ้างได้รับผลกระทบจำนวน 127,018 คน
สำหรับจังหวัดที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือนครศรีธรรมราช ซึ่งมีสถานประกอบการได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมเป็นจำนวน 4,419 แห่ง ลูกจ้างได้รับผลกระทบเป็นจำนวน 52,319 คน รองลงมาคือจังหวัดชุมพร มีสถานประกอบการได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมเป็นจำนวน 2,678 แห่ง ลูกจ้างได้รับผลกระทบเป็นจำนวน 31,597 คน
ทั้งนี้ จากผลกระทบดังกล่าว พล.อ.ศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน มีนโยบายให้หน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงานหามาตรการช่วยเหลือและเยียวยาผู้ประสบอุกทกภัยเป็นการเร่งด่วน ซึ่งในส่วนกรมการจัดหางานได้มีมาตรการพักชำระหนี้แก่ลูกหนี้เงินกองทุนผู้รับงานไปทำที่บ้านเป็นระยะเวลา 6 เดือน และไม่คิดดอกเบี้ยในระหว่างการพักชำระหนี้ จากเดิมคิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 3 ต่อปี เบื้องต้นพบว่าผู้ประสบภัยในภาคใต้ส่วนหนึ่งเป็นสมาชิกของกลุ่มผู้รับงานไปทำที่บ้านโดยมีกลุ่มผู้รับงานไปที่บ้านประสบปัญหา จำนวน 23 กลุ่ม
สำหรับกองทุนเพื่อผู้รับงานไปทำที่บ้าน เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2548 มีผลการดำเนินการปล่อยกู้ไปแล้วจำนวน 303 กลุ่ม เป็นเงินทั้งสิ้นจำนวน 27,261,000 บาท และในปี 2560 กองทุนฯได้ประมาณการปล่อยกู้ไว้ 50 กลุ่ม เป็นวงเงินที่สามารถปล่อยกู้ได้รวม 5,000,000 บาท ทั้งนี้ อาจมีการขยายระยะเวลาการพักชำระหนี้ได้ซึ่งขึ้นอยู่กับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป
อย่างไรก็ตามสำหรับผู้ประสบภัยที่ว่างงานและต้องการรับงานไปทำที่บ้านสามารถติดต่อและลงทะเบียนหรือสอบถามข้อมูลเกี่ยวกับการรับงานไปทำที่บ้านได้ที่สำนักงานจัดหางานจังหวัด หรือโทรสายด่วนกรมการจัดหางาน 1694 สำหรับลูกจ้างที่ประสบภัยสอบถามข้อมูลการได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายได้ที่ สายด่วนกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน โทร. 1546 .-สำนักข่าวไทย