กรุงเทพฯ 19 ม.ค.-นักวิชาการมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์แนะรัฐเตรียมเครื่องมือให้พร้อมรับมือความเสี่ยงจากนโยบายนายโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐคนใหม่ เตือนอย่าใช้มาตรการกระตุ้นการบริโภคมากเกินไป ควรแก้โจทก์ใหญ่สร้างความเชื่อมั่นให้เอสเอ็มอีลงทุน
นายสกนธ์ วรัญญูวัฒนา คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวภายหลังการเปิดสัมมนา “เส้นทางเศรษฐกิจไทย บนความผันผวนของเศรษฐกิจโลก ว่า เศรษฐกิจไทยปีนี้ยังต้องเผชิญความเสี่ยงและความผันผวนหลายด้านจากปัจจัยภายนอก โดยเฉพาะนโยบายด้านเศรษฐกิจของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐ ที่ประกาศมาตรการกีดกันทางการค้า โดยเฉพาะกับจีน ดึงเม็ดเงินลงทุนกลับสหรัฐ ซึ่งจะมีผลกระทบต่อประเทศไทยแน่นอน โดยเฉพาะการส่งออกในกลุ่มซัพพลายเชน อุตสาหกรรมยานยนต์ และคอมพิวเตอร์ เพราะอุตสาหกรรมเหล่านี้ส่งออกไปยังประเทศจีนเป็นหลัก ส่วนการที่สหรัฐยกเลิกการตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจเอเชีย – แปซิฟิก หรือ ทีพีพี นั้น ทำให้ทั่วโลกต้องมีการปรับตัว เพราะจะเกิดความไม่เชื่อมั่นต่อการค้าระหว่างประเทศ แต่เป็นโอกาสของไทยที่จะมีการเจรจาการค้าเสรีกับสหรัฐได้ เพราะที่ผ่านมาไทยไม่ได้เข้าร่วมทีพีพี
นายสกนธ์ กล่าวว่า จากปัจจัยกระทบที่มีความผันผวน รัฐบาลต้องระมัดระวังการดำเนินนโยบายอย่างระมัดระวังอย่ากระตุ้นการบริโภคระยะสั้นมากเกินไป โดยมุ่งหวังเรื่องการขยายตัวทางเศรษฐกิจเป็นหลัก เช่นมาตรการช้อปช่วยชาติ การให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ รัฐบาลควรเตรียมเครื่องมือทางการเงินให้เพียงพอ เพื่อเตรียมรับมือผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของโลกที่เกิดขึ้นรวดเร็ว โดยโจทก์ใหญ่ที่เป็นการบ้านของรัฐบาล คือ การสร้างความเชื่อมั่นให้เกิดขึ้นกับภาคเอกชน โดยเฉพาะผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ เอสเอ็มอี เพราะแม้ที่ผ่านมารัฐบาลจะเร่งการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน แต่เม็ดเงินส่วนใหญ่กระจุกตัวอยู่เพียงกลุ่มผู้ประกอบการรายใหญ่เท่านั้น
ขณะที่เอสเอ็มอียังชะลอการลงทุน ดังนั้นรัฐบาลต้องเร่งสร้างความเชื่อมั่นให้เอสเอ็มอีลงทุน จึงจะทำให้เศรษฐกิจไทยเติบโตแบบทั่วถึงได้ อย่างไรก็ตามยังมองว่าพื้นฐานเศรษฐกิจไทย ยังคงแข็งแกร่ง ทุนสำรองระหว่างประเทศยังสูง ขณะที่หนี้สาธารณะต่อจีดีพียังต่ำ อยู่ที่ร้อยละ 48 ดังนั้นรัฐบาลยังสามารถใช้งบประมาณโดยเฉพาะงบกลางปีกระจายสู่ตามต่างจังหวัดได้ เพื่อหนุนให้เศรษฐกิจไทยในปีนี้เติบโตประมาณ ร้อยละ 3.2 ถึง 3.5
นายวศิน ศิวสฤษดิ์ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า มี 3 ปัจจัยที่กระทบเศรษฐกิจไทย คือการแถลงนโยบายของว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐ กรณีสหราชอาณาจักรถอนตัวจากการเป็นสมาชิกยุโรป และปัญหาเศรษฐกิจจีน โดยเฉพาะนโยบายของนายโดนัล ทรัมป์ ที่ทั่วโลกกำลังจับตามองการแถลงในการเข้ารับตำแหน่งวันที่ 20 มกราคมนี้ ส่งผลให้ดัชนีความกลัว อยู่ที่ระดับ 10 หรือหมายถึงอยู่ในสภาพนิ่งเพื่อรอความชัดเจน ซึ่งหากนักลงทุนผิดหวังกับการแถลงของนายโดนัลด์ ทรัมป์ มีโอกาสที่จะทำให้ค่าดัชนีความกลัวขึ้นไปถึงระดับ 20-30 หรือหมายถึงความผันผวนสูง จะส่งผลให้ตลาดเงิน ตลาดหุ้นทั่วโลกผันผวนหนัก อย่างไรก็ตามยังเชื่อมั่นในพื้นฐานเศรษฐกิจไทยยังแข็งแกร่งรองรับความผันผวนได้ แต่หากนักลงทุนมั่นใจนโยบายของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ต้องรอเวลาให้เห็นผลงานอย่างน้อย 6 เดือน.- สำนักข่าวไทย