รัฐสภา 23 ม.ค.- สังศิต เผย อนุกรรมาธิการ ปรองดองฯ สปท. ยึดแนวทาง 66/23 ของพล.อ.เปรม และนำผลการศึกษา 9 คณะ มาพิจารณา พร้อมเชิญมาให้ข้อมูลและขอความเห็นเป็นเอกสารจาก ปชป. พท. นปช. และ กปปส.
นายสังศิต พิริยะรังสรรค์ ประธานอนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษา รวบรวมความคิดเห็นวิเคราะห์และสังเคราะห์ ประเด็นการแก้ปัญหาความขัดแย้ง และการสร้างความปรองดองทางการเมือง ในคณะกรรมาธิการการเมือง สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) แถลงผลการประชุมนัดแรก ว่า ได้กำหนดเป้าหมายการทำงาน ที่จะทำให้ความขัดแย้งระหว่างพรรคและกลุ่มการเมืองยุติลง ทำให้เลิกอคติเพื่อให้เกิดเสถียรภาพทางการเมือง เพื่อความเจริญรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจของประเทศ
นายสังศิต กล่าวว่า เบื้องต้นอนุกรรมาธิการ จะนำนโยบายและมาตรการ 66/23 และ66/25 ของพล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ สมัยดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี มาเป็นหลักการทำงาน ซึ่งนโยบายดังกล่าวทำให้สงครามการเมืองระหว่างพรรคคอมมิวนิสต์และรัฐบาลที่ยืดเยื้อในขณะนั้นยุติลงได้ นอกจากนี้จะคำนึงถึงความสามัคคีและสันติสุข ใช้หลักเมตตา ให้อภัย ยุติความเกลียดชัง ใช้หลักนิติรัฐ แบบที่พล.อ.เปรมเคยปฏิบัติ รวมไปถึงใช้กฎหมายปฏิบัติกับทุกฝ่ายเท่าเทียมกันไม่เลือกปฏิบัติกับกลุ่มหนึ่งกลุ่มใด
นายสังศิต กล่าวว่า การประกาศนโยบายปรองดองของรัฐบาล จะลดความตึงเครียดสถานการณ์ทางการเมืองลง และจะทำให้การทำงานสำเร็จ เพราะรัฐบาลในฐานะคนกลางไม่ใช่คู่ขัดแย้ง และคนไทยทั้งชาติเรียกร้องให้เกิดความสามัคคี จึงจะสำเร็จง่ายขึ้น
นายสังศิต กล่าวว่า แนวทางการทำงานของอนุกรรมาธิการฯ จะใช้เอกสารจาก 9คณะที่เคยศึกษาเรื่องความปรองดองมาก่อน มาต่อยอดและจะเชิญประธานทั้ง 9 คณะ เช่น นายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ นายดิเรก ถึงฝั่ง สถาบันพระปกเกล้า นายคณิต ณ นคร พล.อ.สนธิ บุญยรัตนกลิน มาพบปะ เพื่อให้ข้อมูลและตรวจสอบความรอบคอบของผลการศึกษาให้เกิดความมั่นใจว่าไม่มีเจตนารมณ์บิดเบือนข้อมูล รวมไปถึงได้จดหมายไปยังพรรคประชาธิปัตย์ พรรคเพื่อไทย กลุ่มนปช. และกปปส. ขอให้ทำเอกสารความเห็นที่เป็นทางการส่งกลับมาภายใน 2 สัปดาห์ ซึ่งกรอบการทำงานของอนุกรรมาธิการฯ จะใช้เวลาไม่เกิน 60 วัน ก่อนเสนอสู่ที่ประชุม สปท. มั่นใจ ว่าจะเป็นไปได้ด้วยดี ทำงานร่วมกับรัฐบาลและ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้
ด้านนายนิกร จำนง อนุกรรมาธิการฯ กล่าวว่า จะยึดหลักการทำงานตามแนวทางนโยบาย 66/23 แต่ยังไม่ได้คุยถึงวิธีการว่าจะเป็นการนิรโทษกรรมหรือไม่ แม้ว่าเอกสารจาก 9 คณะที่เคยศึกษาเรื่องความปรองดองมาก่อนจะมีข้อผิดพลาดบกพร่อง แต่ก็ทำให้อนุกรรมาธิการฯ ได้เรียนรู้ทั้งหมดเพื่อกำหนดแนวทางว่าจะเดินหน้าแก้ปัญหาต่อไปอย่างไร.-สำนักข่าวไทย