ภาคใต้ 24 ม.ค.-สถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ภาคใต้หลายจังหวัดระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้น ขณะที่ บมจ.อสมท สำนักงานภาคใต้ ส่งน้ำดื่ม 600 ชุด ไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยในพื้นที่จังหวัดสงขลา
ตัวแทนศูนย์ข่าวภาคใต้ บมจ.อสมท นำน้ำดื่มและส้วมกระดาษ 1,200 ชุด ไปมอบผ่านศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต 12 สงขลา ลำเลียงส่งไปให้ผู้ประสบภัยในพื้นที่อำเภอระโนด ซึ่งได้รับผลกระทบจากสถานการณ์น้ำท่วมมาเกือบ 2 เดือน และนำน้ำดื่ม 600 ชุด ที่เปิดรับบริจาคจากประชาชนในโครงการ “อสมท ช่วยผู้ประสบภัย สานใจประชารัฐ” ของ บมจ.อสมท และสถานีวิทยุ 15 แห่งในพื้นที่ภาคใต้ ไปมอบให้กับผู้ประสบภัยด้วย
ด้านนายสมพร สิริโปราณานนท์ ประธานหอการค้า เปิดเผยว่า หอการค้าไทยประเมินความเสียหายจากเหตุน้ำท่วมครั้งนี้เป็นมูลค่ากว่า 10,000-20,000 ล้านบาท โดยเฉพาะค่าเสียโอกาสด้านการส่งออกและค้าขายชายแดนประมาณ 7,000 ล้านบาท จากเหตุเส้นทางขาดที่อำเภอบางสะพาน การส่งออกจึงล่าช้า ส่วนภาคการท่องเที่ยวภาคใต้ได้รับผลกระทบถึงร้อยละ 20 โดยเฉพาะสื่อมาเลเซีย สิงคโปร์ เสนอข่าวน้ำท่วมในภาพรวมของภาคใต้ ทำให้ส่งผลกระทบด้านจิตวิทยากับนักท่องเที่ยว
สถานการณ์น้ำท่วม 2 ฝั่งแม่น้ำตรัง หลังฝนตกหนักต่อเนื่อง พนังกั้นแม่น้ำตรังที่แตกชำรุดตั้งแต่ปลายปี ทำให้น้ำไหลทะลักเข้าชุมชนสองฝั่งแม่น้ำตรัง 7 ตำบล 2 อำเภอ คือ อำเภอเมือง อำเภอกันตัง ระดับน้ำสูงขึ้น ชาวบ้านกว่า 1,000 หลังคาเรือนได้รับผลกระทบ ถนนทางเข้าหมู่บ้านถูกตัดขาด และมีแนวโน้มระดับน้ำจะสูงขึ้นอีก โดยเฉพาะอำเภอห้วยยอด วังวิเศษ กันตัง และอำเภอเมือง เนื่องจากเป็นพื้นที่รับน้ำจากอำเภอทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช และอยู่ติดกับแม่น้ำตรัง ขณะที่นครศรีธรรมราช แม้ระดับน้ำลดลง แต่ยังเจอปัญหาขยะอุดตันตามท่อระบายน้ำ
นายรอยล จิตรดอน ผู้อำนวยการสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร ลงสำรวจเส้นทางน้ำและพื้นที่คอขวดในจังหวัดตรัง และแม่น้ำตรัง เพื่อหาแนวทางป้องกันปัญหาน้ำท่วมระยะยาว หลังรับนโยบายมาจากนายกรัฐมนตรี พบว่าพนังกั้นน้ำ ตำบลนาท่ามเหนือ นาตาล่วง และหนองตรุด ถึงสะพานท่าจีน ตำบลบางรัก อำเภอเมือง หลายจุดมีลักษณะคดเคี้ยวเป็นเนินสูง-ต่ำ เป็นคุ้งน้ำ จึงเป็นอุปสรรคต่อการไหลของน้ำ อาจต้องขุดลอกแม่น้ำตรังครั้งใหญ่ เพื่อให้น้ำระบายลงสู่ทะเลได้เร็วขึ้น อีกทั้งน้ำที่มาจากอำเภอทุ่งสง ซึ่งมาเร็ว แต่จะมาชะลออยู่ที่จุดนี้ จึงทำให้น้ำเอ่อล้นตลิ่งจนท่วมขัง
อย่างไรก็ตาม จะเร่งหาแนวทางป้องกันปัญหาน้ำท่วมระยะยาว และจะนำข้อมูลไปร่วมประชุมกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง โดยเห็นควรเสนอแนวทางแก้ไข 4 ข้อ อาทิ เร่งแก้ปัญหาคอขวดที่เป็นอุปสรรคต่อการระบายน้ำ เร่งสร้างคลองผันน้ำ ทำโครงการจัดเก็บน้ำขนาดเล็ก และควรตั้งศูนย์น้ำจังหวัด เพื่อรวบรวมข้อมูลบริหารจัดการน้ำ ทั้งหน้าแล้งและหน้าฝน ในทุกจังหวัด.-สำนักข่าวไทย