กรุงเทพฯ 24 ม.ค. – กรมชลประทานเผยน้ำท่วมสุราษฎร์-นครศรีฯ หลายพื้นที่เข้าสู่ภาวะปกติ แต่ยังต้องติดตามฝนตกรอบใหม่อย่างใกล้ชิด พร้อมเร่งระบายน้ำอย่างต่อเนื่อง เพิ่มพื้นที่รอรับฝนใหม่
นายทองเปลว กองจันทร์ รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า กรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์สภาวะอากาศระยะนี้ว่าบริเวณความกดอากาศสูงกำลังค่อนข้างแรงจากประเทศจีนแผ่ปกคลุมประเทศไทยและทะเลจีนใต้ ทำให้มรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้มีกำลังแรง ส่งผลให้วันที่ 23-25 มกราคม 2560 จะมีฝนตกหนักถึงหนักมากหลายพื้นที่ในภาคใต้ตอนล่างบริเวณจังหวัดนครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส
ทั้งนี้ จากการติดตามสภาพฝนในพื้นที่ภาคใต้ พบว่าปริมาณฝนที่ตกในพื้นที่ต่าง ๆ วันที่ 23 มกราคมอยู่ในเกณฑ์ไม่มาก วัดปริมาณฝนสูงสุดในพื้นที่ต่าง ๆ ได้ ดังนี้ สุราษฎร์ธานี 15 มิลลิเมตร ตรัง 6 มิลลิเมตร นครศรีธรรมราช 21 มิลลิเมตร ปัตตานี 4 มิลลิเมตร และนราธิวาส 42 มิลลิเมตร แต่ยังคงต้องเฝ้าระวังสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง เนื่องจากยังมีแนวโน้มว่าจะมีฝนตกหนักในพื้นที่ภาคใต้จนกว่าจะถึงวันที่ 25 มกราคมนี้
สำหรับสถานการณ์น้ำท่วม ปัจจุบันคงเหลือพื้นที่น้ำท่วมขังในที่ลุ่มต่ำบางแห่งบริเวณจังหวัดสุราษฎร์ธานี และนครศรีธรรมราช ซึ่งกรมชลประทานยังคงเดินหน้าระบายน้ำออกจากพื้นที่อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะนครศรีธรรมราช บริเวณอำเภอรอบนอกและอำเภอเมืองนครศรีธรรมราช สถานการณ์น้ำเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว คงเหลือพื้นที่ลุ่มต่ำของลุ่มน้ำปากพนังตอนล่างที่ยังมีน้ำท่วมขังประมาณ 551 ล้านลูกบาศก์เมตร กรมชลประทานใช้เครื่องสูบน้ำ 112 เครื่อง เครื่องผลักดันน้ำ 69 เครื่อง และได้รับสนับสนุนเรือผลักดันน้ำจากกองทัพเรืออีก 60 ลำ เร่งระบายน้ำออกสู่ทะเลอย่างต่อเนื่อง หากไม่มีฝนตกหนักลงมาเพิ่ม คาดว่าจะเข้าสู่ภาวะปกติใน 1 สัปดาห์
ส่วนสุราษฎร์ธานี ระดับน้ำในแม่น้ำตาปี บริเวณ อ.พระแสง อ.เคียนซา และอ.พุนพิน มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง คงเหลือปริมาณน้ำที่ท่วมขังประมาณ 60 ล้านลูกบาศก์เมตร ได้มีการติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำ 32 เครื่อง เร่งระบายน้ำให้ลงสู่ทะเลโดยเร็ว คาดว่าสถานการณ์จะเข้าสู่ภาวะปกติภายใน 3 – 4 วันนี้
อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องเฝ้าระวังสถานการณ์ฝนตกหนักอีกระลอกตามที่กรมอุตุนิยมวิทยาแจ้งเตือน ซึ่งกรมชลประทานยังคงเดินหน้าระบายน้ำออกจากพื้นที่น้ำท่วมขังอย่างต่อเนื่อง โดยใช้เครื่องสูบน้ำออกปฏิบัติการทั้งหมด 170 เครื่อง และเครื่องผลักดันน้ำอีก 112 เครื่อง เพื่อให้มีพื้นที่ว่างสำหรับรองรับปริมาณฝนที่จะตกลงมาอีก โดยจะไม่เกิดผลกระทบน้ำท่วมเพิ่มขึ้นจากเดิมมากนัก อย่างไรก็ตาม ได้ให้ทุกโครงการชลประทานในพื้นที่เสี่ยงภัยภาคใต้เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์น้ำ พร้อมทั้งรายงานสถานการณ์ไปยังจังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ เพื่อแจ้งเตือนประชาชนให้เตรียมพร้อมรับมือต่อไปแล้ว.-สำนักข่าวไทย