นครปฐม 27 ม.ค. – เกษตรกร อ.สามพราน จ.นครปฐม ได้เปลี่ยนวิถีการปลูกพืชจากใช้ปุ๋ยและสารเคมี มาเป็นเกษตรอินทรีย์ใช้พื้นที่กว่า 80 ไร่ ปลูกฝรั่งกิมจูเกษตรอินทรีย์ ผลิตปุ๋ยชีวภาพ ทำฮอร์โมนไข่สูตรเปิดตาดอก เปิดเป็นศูนย์เรียนรู้ให้กับคนในชุมชน จนกลายเป็นต้นแบบหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงของ อำเภอสามพราน จ.นครปฐม
ผลฝรั่งห่อหุ้มด้วยถุงพลาสติก พร้อมเก็บเกี่ยวออกจำหน่ายที่เห็นอยู่นี้ แม้รูปร่างและผิวของผลไม่สวยเนียน แต่รสชาติหวาน กรอบ อร่อย กัดกินได้แบบสดๆ จากต้น เนื่องจากสวนฝรั่งบนพื้นที่กว่า 80 ไร่นี้ เป็นเกษตรอินทรีย์ปลอดสารเคมี โดยมีป้าประหยัด ปานเจริญ เป็นเจ้าของสวน อยู่ที่ ต.บางช้าง อ.สามพราน จ.นครปฐม เป็นเกษตรกรอีกหนึ่งคนที่เปลี่ยนวิถีการทำเกษตรแบบใช้ปุ๋ยและสารเคมีมานานหลายปี ทำให้มีต้นทุนสูง ต้องกู้หนี้ยืมสิน นานเข้ากลายเป็นหนี้สินก้อนโต
แต่หลังจากได้ศึกษาหาข้อมูลด้วยตัวเองจากตำรา แบบลองผิดลองถูก จนในปี 2555 จึงตัดสินใจปรับพื้นที่สวนองุ่น สวนส้ม เปลี่ยนมาปลูกฝรั่งกิมจูเกษตรอินทรีย์ โดยยึดตามแนวเศรษฐกิจแบบพอเพียง
สวนฝรั่งกิมจูที่นี้จะปลูกแบบยกร่อง เพราะเป็นพืชชอบน้ำ ยกร่องกว้างประมาณ 6 เมตร คูน้ำกว้าง 1.5 เมตร ปลูกเว้นระยะห่าง 4 x 4 เมตร เพื่อให้มีพื้นที่ต้นฝรั่งขยายกิ่งก้าน ใส่ปุ๋ยคอกรองก้นหลุม รดน้ำวันละครั้ง ต้นอายุ 6 เดือน จะเริ่มออกดอก จากนั้นใช้ถุงพลาสติกห่อชั้นแรก แล้วห่อด้วยถุงกระดาษทับอีกชั้น เพื่อช่วยป้องกันแมลงและให้ผลฝรั่งมีผิวสวย
ใช้ไข่ไก่ 5 กิโลกรัม กากน้ำตาล 5 กิโลกรัม ลูกแป้ง1 ลูก นมเปรี้ยว โยเกริต์อย่างละ 1 กระปุก น้ำมะพร้าว 10 ลิตร ปั่นรวมกันหมักไว้ 15 วัน นำเอาไปรดที่ต้นฝรั่ง ข้อดีของการปลูกฝรั่งกิมจูอินทรีย์ คือมีผลผลิตออกตลอดทั้งปี ตลาดต้องการสูง
นอกจากนี้ โครงการสามพรานโมเดล เข้ามาสนับสนุนทางการตลาดให้กับเกษตรกรที่ปลูกพืชแบบเกษตรอินทรีย์ มีสมาชิกกว่า 130 ครัวเรือน จากพื้นที่ใกล้เคียง จ.นครปฐม เช่น ราชบุรี กาญจนบุรี ประจวบคีรีขันธ์
ทุกวันนี้ป้าประหยัด ยังถ่ายทอดความรู้ให้กับเกษตรกรในพื้นที่ เปิดเป็นศูนย์เรียนรู้ชุมชนบ้านหัวอ่าว แบ่งเป็นฐานความรู้ เช่น ฐานปุ๋ยชีวภาพ ฐานทำฮอร์โมนไข่สูตรเปิดตาดอก เพื่อนำไปต่อยอดพัฒนาในพื้นที่ของตัวเองจนกลายเป็นชุมชนต้นแบบหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงของ อ.สามพราน จ.นครปฐม . – สำนักข่าวไทย