สำนักข่าวไทย 29 ม.ค.-แพทย์เตือนอย่าตื่นตระหนก หลังพบผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่เสียชีวิตด้วยภาวะสมองอักเสบ แต่ฝากถึงแพทย์ด้วยกัน เฝ้าระวังการรักษา นอกจากอาการทั่วไป ต้องเฝ้าระวังทางสมองด้วย
นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ผอ.ศูนย์โรคติดเชื้อ โรคอุบัติใหม่ สภากาชาดไทยและจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงกรณีการเตือนเรื่องการเฝ้าระวังโรคไข้หวัดใหญ่ ว่า ไม่ใช่ให้ตื่นตระหนกแต่ต้องการให้เพื่อนแพทย์ด้วยกันและคนไข้ตระหนักว่า ลักษณะอาการของไข้หวัดใหญ่ที่คุ้นเคย คือมีไข้ น้ำมูกไหล ปวดเมื่อย กล้ามเนื้อ ไปจนหนัก มีอาการทางหลอดลมอักเสบ ปอดบวมต้องเข้าโรงพยาบาลนั้น ในระยะหลังที่แพทย์ทางสมองจับตาคือนับแต่มีไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่2009 นอกจากอาการที่รู้จักกันแล้ว กลับมีอาการทางสมองเยอะขึ้นมาก ทั้งในต่างประเทศ ในเอเชียและประเทศไทย ตั้งแต่ไม่รู้สึกตัว โคม่า สมองอักเสบ หรือมีอาการชักไม่หยุด ไม่ว่าจะผู้ใหญ่หรือเด็ก
นพ.ธีระวัฒน์ กล่าวต่อว่า หลังจากเริ่มติดตามตั้งแต่ปี2009 (พ.ศ.2552) จนถึงต้นปีนี้ สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ซึ่งเฝ้าระวังถึงระดับหมู่บ้าน ที่โคราช จ.นครราชสีมา ปี2014 (พ.ศ.2557) สำรวจพบมีกว่า2,000 คน เสียชีวิต 22 ราย โดย 21 รายเป็นเรื่องปอดอักเสบ และมี 1ราย เป็นสมองอักเสบ เป็นเด็กพี่น้อง 2 คน อยู่บ้านเดียวกันแต่เสียชีวิต 1คน
‘จากการเฝ้าระวังถี่ถ้วนทำให้ฉุกคิดว่าอาการของสมองอักเสบ น่าจะเป็นเรื่องเดียวกับไข้หวัดใหญ่ ซึ่งพบว่าจริงเพราะจากการเก็บตัวอย่างพี่น้องที่อาการน้อยและเสียชีวิต ก็ยืนยันเป็นไข้หวัดใหญ่ 2009จริง นอกจากนั้นในเด็กที่เสียชีวิต ตรวจวิเคราะห์แล้วพบเป็นลักษณะของสมองอักเสบอีกชนิดซึ่งพบได้ในไข้หวัดใหญ่ ลักษณะนี้ทำให้สรุป ตั้งสมมติฐานได้อีกประเด็น ไข้หวัดใหญ่ตามปกติไม่ค่อยเข้าสมอง แต่นั่นอาจมีความสามารถเข้าที่เซลล์เยื่อบุเส้นเลือดในสมอง ทำให้เส้นเลือดปล่อยน้ำให้รั่วออกมาจากเลือดและทำให้สมองบวมอย่างรุนแรง และทำให้เด็กเสียชีวิตร่วมกับอาการชัก แสดงว่าเชื้อโรคเดียวกันอาจแสดงอาการออกมาได้คนละระบบแทนที่จะเป็นปอดก็มาเป็นทางสมอง และกลไกที่ทำร้ายในสมองไม่ธรรมดา อาจไม่เหมือนกลไกของไวรัสที่ทำให้สมองอักเสบทั่วๆไป หลังจากนั้นก็มีความเข้มข้นขึ้น’ นพ.ธีระวัฒน์ กล่าว
นอกจากนี้ปี2016 (พ.ศ.2559)ที่ รพ.จุฬาฯมีเด็กอายุ14 ปีซึ่งพบเป็นไข้หวัดใหญ่แต่ได้วิเคราะห์ไปตามลักษณะอาการทางสมองทำให้สามารถช่วยได้ และปีนี้ 2017 (พ.ศ.2560)ที่จังหวัดทางภาคอีสาน สำนักระบาดวิทยา เฝ้าระวังอยู่พบที่จังหวัดหนึ่งมีเด็ก 2คน อยู่บ้านเดียวกัน เป็นไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์บีพบมีอาการทางสมอง เข้า รพ.ทั้ง2 ราย ปรากฏ 1 ราย เสียชีวิต และอีกรายยังไม่รู้สึกตัว
‘ที่อยากเรียนให้ทราบคือเวลาเกิดเรื่องกับสมองอักเสบทางแพทย์ บุคลากรทางสาธารณสุข หรือประชาชน อาจต้องมองรอบๆว่าขณะนั้นรอบบ้าน คนในบ้าน ในหมู่บ้านหรือในพื้นที่ใกล้เคียงมีอะไรขึ้นมาผิดปกติแม้ไม่ใช่สมองอักเสบ อาจเป็นอาการอื่น เชื้อหนึ่งอาจออกมาเป็นหน้าตาอีกแบบได้ ทั้งที่ตัวเชื้อโรคเดียวกัน และคนที่รักษา หากวิเคราะห์ได้แต่ต้นว่าเป็นเชื้ออะไร สามารถวิเคราะห์ได้ว่ากลไกที่เกิดขึ้นน่าเป็นชนิดไหน อาจมีการรักษาที่เฉพาะเจาะจงไปได้’ นพ.ธีระวัฒน์ กล่าว และว่าที่สำคัญต้องเป็นภารกิจอีกอย่างของแพทย์ไม่ว่าอยู่ รพ.สังกัดกระทรวงสาธารณสุข โรงเรียนแพทย์ หรือโรงพยาบาลเอกชน อาจต้องรายงานไปที่สำนักระบาด กรมควบคุมโรคซึ่งมีวอร์รูม คอยบันทึก แต่วิธีที่ดีคือการกินร้อนช้อนกลางล้างมือ ไอ ปิดปาก หากไม่สบายต้องกันตัวเองออกจากคนรอบด้าน .-สำนักข่าวไทย