สำนักข่าวไทย 31ม.ค.-หลังพ.ร.บ.กองทุนให้กู้ยืมเพื่อการศึกษาประกาศใช้ หัวหน้ารับรู้ประวัติหนี้ ลูกหนี้ยินยอมให้หักเงินและให้กองทุนเข้าถึงข้อมูลส่วนตัว ลูกหนี้เผย พ.ร.บ.เพียงช่วยจัดระเบียบการเงินให้กับคนพร้อมจะจ่าย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าภายหลัง พระราชบัญญัติกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา พ.ศ.2560 มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 27 มกราคมที่ผ่านมา สาระสำคัญระบุให้ผู้กู้ยืมเงินต้องให้ความยินยอมในขณะทำสัญญากู้ยืมเงิน เพื่อให้ผู้มีหน้าที่จ่ายเงินได้พึงประเมิน หักเงินได้ของตนตามจำนวนที่กองทุนแจ้งให้ทราบ, แจ้งสถานะการเป็นผู้กู้ยืมเงินต่อหัวหน้าหน่วยงานภาครัฐหรือเอกชนที่ตนทำงานด้วยภายใน 30 วันนับแต่วันที่เริ่มปฏิบัติงาน ยินยอมให้หักเงินได้พึงประเมินของตน และยินยอมให้กองทุนเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคลของตนที่อยู่ในครอบครองของบุคคลอื่น รวมทั้งยินยอมให้กองทุนเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับการกู้ยืมเงิน และการชำระเงินคืนกองทุน
อีกทั้งยกเลิกพระราชบัญญัติกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา พ.ศ.2541 นอกจากนี้ยังมีมาตรการเข้มงวดในการชำระคืนเงินกู้เพื่อการศึกษา หลัง จากที่ผ่านมาประสบปัญหาผู้กู้ไม่ยอมใช้คืนคิดเป็นวงเงินมหาศาล จนเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ถึงความไม่เหมาะสมอย่างกว้างขวาง
น.ส.จารยา บุญมาก ลูกหนี้ กยศ.ที่ใช้หนี้ต่อเนื่องมากว่า 5 ปี เริ่มกู้ยืมขณะศึกษาในระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายและระดับอุดมศึกษา ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวไทยถึงการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับใหม่ว่า ตนเห็นด้วยเพราะช่วยจัดระเบียบการเงินให้กับคนพร้อมจะจ่าย แต่ตนมองว่าสำหรับคนที่มีภาระต่อเดือนจำนวนมากและไม่คิดจะเบี้ยวหนี้ การจ่ายภายหลังแม้ต้องเสียค่าปรับเล็กน้อยก็ยินดี และไม่เห็นด้วยที่ต้องแจ้งรายละเอียดส่วนตัวให้กับนายจ้าง นำมาสู่การกะเกณฑ์เวลาชำระหนี้เสมือนกับการบอกข้อมูลส่วนตัวกับบัตรเครดิต จนก้าวล้ำสิทธิส่วนบุคคล ควรให้สิทธิลูกหนี้จัดการตัวเอง แต่ตนเห็นด้วยกับการขึ้นแบล็คลิสต์ ทำบัตรเครดิต ป้องกันการเปิด ตัดสิทธิการเงินอย่างอื่นเห็นควร
น.ส.จารยา กล่าวต่อว่า การแก้ปัญหาควรเริ่มตั้งแต่ต้น ตนมองมากองทุนกยศ.อนุมัติง่ายเกินไป คนกู้กยศ.มี 2 แบบคือคนที่มีฐานะดี กู้ไปซื้อสิ่งของที่อยากได้และนำเงินมาใช้คืนได้ ส่วนแบบที่สองคือคนที่ฐานะยากจนจริงๆ ซึ่งควรได้รับโอกาสมากกว่า แต่ในปัจจุบันกองทุนเป็นการเอื้อในเชิงธุรกิจการศึกษามากกว่า เพื่อให้มีผู้เรียนมากขึ้น โดยเฉพาะในมหาวิทยาลัยปิด.-สำนักข่าวไทย