กรุงเทพฯ 4 ก.พ. – กสิกรไทยระบุเงินบาทแข็งค่าสุดในรอบ 2 เดือนครึ่ง ขณะที่หุ้นไทยปรับลดลง ท่ามกลางความกังวลนโยบายต่างประเทศของประธานาธิบดีทรัมป์ ประเมินสัปดาห์หน้าเงินบาท 35.00-35.20 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่หุ้นไทยแนวรับ 1,560 – 1,570 จุด และแนวต้าน 1,595 – 1,610 จุด
ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) รายงานว่าสัปดาห์ที่ผ่านมา (30 ม.ค.-3 ก.พ.) เงินบาทแตะระดับแข็งค่าสุดในรอบ 2 เดือนครึ่งครั้งใหม่ที่ 35.05 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ท่ามกลางแรงเทขายเงินดอลลาร์ เนื่องจากนักลงทุนมีความกังวลกับผลกระทบจากนโยบายต่างประเทศและการแสดงความเห็นในเรื่องค่าเงินของประธานาธิบดีทรัมป์ นอกจากนี้ สัญญาณที่ไม่ชัดเจนของจังหวะการขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เพิ่มแรงกดดันต่อค่าเงินดอลลาร์สวนทางกับทิศทางเงินบาทที่ได้รับแรงหนุนจากสถานะซื้อสุทธิพันธบัตรไทยของนักลงทุนต่างชาติ โดยวันที่ 3 กุมภาพันธ์ เงินบาทอยู่ที่ 35.06 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าเมื่อเทียบกับระดับ 35.29 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐในวันที่ 27 มกราคมที่ผ่านมา
สำหรับสัปดาห์หน้า (6-10 ก.พ.) ธนาคารกสิกรไทยประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทที่ 35.00-35.20 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ โดยอาจต้องจับตาการตอบรับของตลาดในช่วงต้นสัปดาห์ต่อตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรของสหรัฐ สัญญาณเกี่ยวกับนโยบายประธานาธิบดีทรัมป์ และถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่เฟด ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐที่สำคัญ ได้แก่ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค (ช่วงต้น) เดือนกุมภาพันธ์ ดัชนีราคานำเข้าส่งออกเดือนมกราคม สตอกสินค้าภาคค้าส่งเดือนธันวาคม นอกจากนี้ นักลงทุนอาจรอติดตามตัวเลขเศรษฐกิจเดือนมกราคมของจีน และผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ของไทยวันที่ 8 กุมภาพันธ์ด้วยเช่นกัน
ส่วนดัชนีหุ้นไทยสัปดาห์ที่ผ่านมา (30 ม.ค.-3 ก.พ.) ปรับลดลงจากความกังวลต่อการดำเนินนโยบายต่างประเทศของประธานาธิบดีทรัมป์ โดยดัชนี SET ปิดที่ระดับ 1,582.95 จุด ลดลงร้อยละ 0.49 จากสัปดาห์ก่อน มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวัน ลดลงร้อยละ 11.66 จากสัปดาห์ก่อน มาที่ 50,710.28 ล้านบาท ส่วนตลาดหลักทรัพย์ MAI ปิดที่ 641.68 จุด ลดลงร้อยละ 0.34 จากสัปดาห์ก่อน อย่างไรก็ตาม ตลาดหุ้นไทยฟื้นตัวขึ้นในวันที่ 3 กุมภาพันธ์จากแรงหนุนของราคาน้ำมันที่ปรับตัวขึ้น
สำหรับสัปดาห์หน้า (6-10 ก.พ.) บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด มองว่า ดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,570 และ 1,560 จุด ขณะที่แนวต้านอยู่ที่ 1,595 และ 1,610 จุด ตามลำดับ โดยปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม คงได้แก่ พัฒนาการของการเมืองระหว่างประเทศของสหรัฐ รวมทั้งการเคลื่อนไหวของตลาดการเงินจีน หลังจากทางการจีนปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในตลาดเงิน ขณะที่ข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐที่สำคัญ ได้แก่ ข้อมูลการค้า และความเชื่อมั่นผู้บริโภค ส่วนปัจจัยต่างประเทศอื่น ๆ ที่น่าสนใจ ได้แก่ ข้อมูลการค้าของจีน และจีดีพีไตรมาส 4/2559 ของญี่ปุ่น.-สำนักข่าวไทย