หัวลำโพง 4 ก.พ. – กระทรวงคมนาคมเตรียมเสนอคณะรัฐมนตรีจัดทำแผนระยะยาวป้องกันน้ำท่วมทั้งระบบ ทั้งก่อสร้างรถไฟทางคู่ ออกแบบระบบรางใหม่ พร้อมปรับแผนการใช้งบประมาณฟื้นฟูระบบคมนาคมที่ได้รับความเสียหายจากน้ำท่วมให้เหมาะสมมากขึ้น
สมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจร่วมกับภาครัฐและภาคธุรกิจจัดงานมหกรรม “ฟื้นฟูใต้ คนละไม้คนละมือ” เพื่อระดมเงินบริจาคและสิ่งของไปฟื้นฟูเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยภาคใต้ และภายในงานยังมีการเสวนาหัวข้อ “การฟื้นฟูระบบคมนาคม ขนส่ง หลังน้ำลดในภาคใต้ และแนวทางป้องกันผลกระทบจากอุทกภัยต่อระบบขนส่งในอนาคต” โดยนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า ประเมินมูลค่าความเสียหายทางถนนและรถไฟจากสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ภาคใต้ 6,500 ล้านบาท โดยปรับแผนการใช้งบประมาณการฟื้นฟูระบบคมนาคม แบ่งเป็นความเสียหายรุนแรงและเร่งด่วนในส่วนของรางรถไฟ จะนำงบประมาณฉุกเฉินจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประมาณ 600 ล้านบาท
ส่วนความเสียหายอื่นเจรจากับสำนักงบประมาณและคณะกรรมการป้องกันและบรรเทาสาธารณะภัย เพื่อขอใช้งบประมาณกลางปี 2560 จำนวน 1,300 ล้านบาท ฟื้นฟูความเสียหาย เช่น การตัดถนนทางเลียบเมืองชายทะเล และการจัดทำแผนที่จุดเสี่ยงน้ำท่วม โดยจะนำเสนอคณะรัฐมนตรีเร็ว ๆ นี้ คาดแผนดังกล่าวจะเริ่มชัดเจนภายใน 6 เดือน
นายอาคม กล่าวว่า ในอนาคตกระทรวงคมนาคมจะจัดทำแผนระยะยาวป้องกันน้ำท่วมทั้งระบบ ครอบคลุมการดูแลระบบน้ำและเส้นทางการคมนาคม ซึ่งเตรียมเสนอคณะรัฐมนตรีก่อสร้างรถไฟทางคู่ เส้นทางประจวบ – ชุมพรในรูปแบบทางยกระดับพ้นน้ำ เพื่อไม่ให้กระทบการขนส่งสินค้าหากเกิดน้ำท่วมขึ้นอีก พร้อมออกแบบเส้นทางรถไฟทางคู่ช่วงสุราษฎร์ธานี – หาดใหญ่ ข้ามแม่น้ำแบบไร้ตอม่อสะพาน เพื่อไม่ให้ขวางทางน้ำไหล นอกจากนี้ ยังเตรียมแผนการป้องกันน้ำท่วมในพื้นที่สนามบินภาคใต้ หลังจากสนามบินนครศรีธรรมราชถูกน้ำท่วม โดยใช้งบประมาณ 400 ล้านบาทจัดทำแผนป้องกันน้ำท่วมรอบสนามบิน
ส่วนกรณีกรรมการวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยส่งจดหมายเปิดผนึกถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ระบุถึงค่าออกแบบก่อสร้างโครงการรถไฟไทย – จีน เส้นทางกรุงเทพฯ – นครราชสีมา มีมูลค่ากว่า 10,000 ล้านบาท สูงเกินจริง และยังใช้อำนาจตามมาตรา 44 อนุญาตให้ฝ่ายจีนเป็นผู้ดำเนินการออกแบบนั้น ขอยืนยันว่ามูลค่าการศึกษาออกแบบรถไฟความเร็วสูงเส้นทางดังกล่าวไม่ถึง 10,000 ล้านบาท และวิศวกรจีนสามารถออกแบบได้ โดยแบ่งปันข้อมูลระหว่างวิศวกรไทยและจีน และไม่มีการล็อคสเปควัสดุก่อสร้างในโครงการ เนื่องจากรัฐบาลไทยและจีนหารือกันหลายครั้งตลอด 1 ปีที่ผ่านมา และลงรายละเอียดการใช้วัสดุที่ผลิตในไทย สำหรับแผนการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง เส้นทางแรก กรุงเทพฯ – นครราชสีมา ยังเป็นกำหนดการเดิมภายในเดือนมีนาคมนี้.-สำนักข่าวไทย