กรุงเทพฯ 6 ก.พ. – คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ซึ่งมี รมว.พลังงานเป็นประธานเห็นชอบปรับขึ้นราคาก๊าซหุงต้ม หรือแอลพีจี เป็นครั้งแรกในรอบปี มีผล 7 ก.พ. 60 ขยับขึ้นอีก 0.67 บาท/กก. หรือ 20.96 บาท/กก. จากเดิมราคา 20.29 บาท/กก. ส่งผลถังก๊าซขนาด 15 กก.ขยับขึ้น 10 บาท /ถัง
นายทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) แถลงผลประชุม กบง.ดังกล่าว โดยให้เหตุผลของการขยับราคา ว่า มาจากราคาตลาดโลก (ซีพี) ที่ขยับขึ้นตามฤดูกาลที่ฤดูหนาวความต้องการน้ำมันและก๊าซเพื่อความอุบอุ่นจะปรับตัวสูงขึ้น และยังเป็นผลมาจากข้อตกลงการลดกำลังผลิตน้ำมันของกลุ่มนอกและในโอเปกที่ทำให้ช่วง 2 เดือนที่ผ่านมาราคาแอลพีจี ขยับขึ้นถึง 90 ดอลลาร์สหรัฐ/ตัน มาอยู่ที่ 555 ดอลลาร์สหรัฐ/ตัน และราคาน้ำมันดิบตลาดโลกขยับขึ้นประมาณ 10 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล ล่าสุดราคาน้ำมันดิบดูไบอยู่ที่ 54 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล ขณะเดียวกันค่าขนส่งและประกันภัยแอลพีจี ก็ขยับขึ้นอีก 5 ดอลลาร์สหรัฐ/ตัน มาอยู่ที่ 49 ดอลลาร์สหรัฐ/ตัน ส่งผลให้ราคาอ้างอิงต้นทุนการนำเข้าอยู่ที่ 604 ดอลลาร์สหรัฐ/ตัน โดยหากคำนวณต้นทุนจริงแล้วต้นทุนแอลพีจีจะต้องขยับขึ้น 3.20 บาท/กก.
อย่างไรก็ตาม ยังมีเงินอุดหนุนจากโรงกลั่นน้ำมันและโรงแยกก๊าซธรรมชาติในประเทศ จึงทำให้ต้นทุนตามสูตรแอลพีจี ขยับขึ้นเพียง 1.10 บาท/กก.หรือ 16.5 บาท/ถัง 15 กก. แต่เพื่อไม่ให้ประชาชนเดือดร้อนมากเกินไป กบง.จึงมีมติขยับราคาเพียง 0.67 บาท/กก. โดยให้นำเงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงในบัญชีแอลพีจีมาอุดหนุน 43 สตางค์ ส่งผลให้เงินกองทุนน้ำมันเข้ามาชดเชย 556 ล้านบาท/เดือน โดยฐานะเงินกองทุนฯบัญชีแอลพีจี ณ วันที่ 29 มกราคม 2560 อยู่ที่ 7,120 ล้านบาท
“ที่ประชุม กบง.ประเมินว่าเดือนกุมภาพันธ์จะเป็นเดือนที่ราคาแอลพีจี ปรับเพิ่มขึ้นสูงสุด หลังจากนั้นอาจจะทรงตัวหรือลดลงตามฤดูกาลที่อาจจะอุ่นขึ้น ส่วนราคาน้ำมันต้องดูทิศทางของความร่วมมือลดกำลังผลิตและนโยบายของนายโดนัล ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐ ว่าจะส่งผลต่อเศรษฐกิจโลกอย่างไร ซึ่งในกรณีน้ำมัน 2 เดือนที่ผ่านมาราคาขยับขึ้น 2 บาท/กก. ทั้งที่หากสะท้อนต้นทุนต้องบวกขึ้น 2.50 บาท/กก.” นายทวารัฐ กล่าว
นอกจากนี้ ที่ประชุม กบง.ยังมีมติเห็นชอบมาตรการป้องกันภาวะการขาดแคลนก๊าซแอลพีจี โดยมอบหมายให้กรมธุรกิจพลังงานดำเนินการออกประกาศกระทรวงพลังงานตาม พ.ร.บ. การค้าน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2543 เพื่อรองรับแนวทางและวิธีการปฏิบัติตามมาตรการป้องกันการขาดแคลนก๊าซแอลพีจี โดยเฉพาะประเด็นการสั่งให้นำเข้าก๊าซแอลพีจีแบบฉุกเฉิน (Prompt Cargo) และมีกลไกเรื่องการสำรองแอลพีจี รองรับการเปิดเสรีนำเข้าแอลพีจี ที่มีการประเมินกันว่าจะมีการนำเข้าล็อตแรกเดือน มีนาคมนี้ ซึ่งปัจจุบันการสำรองแอลพีจีตามกฎหมายของประเทศอยู่ที่ประมาณ 62,000 ตัน และสำรองทางการค้าอยู่ที่ 20,000 ตัน .-สำนักข่าวไทย