ขอนแก่น 13 ก.พ. – อาชีพเลี้ยงโคนม เป็นอาชีพที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระราชทานให้กับคนไทย และมหาวิทยาลัยขอนแก่นได้สืบสานพระราชปณิธาน เพื่อช่วยผู้เลี้ยงโคนม
ปัญหาการผสมติดยากในโคนม ทำให้แม่โคท้องว่างนาน ส่งผลต่อคุณภาพน้ำนม เกษตรกรต้องแบกรับต้นทุนที่สูง แต่รายได้ต่ำ เกิดจากแม่โคขาดสมดุลของโภชนะ แม่โคมีความผิดปกติของรังไข่ และเป็นโรคเกี่ยวกับระบบสืบพันธุ์ ทีมวิจัยจากภาควิชาสัตวศาสตร์ คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น จึงศึกษาวิจัยหาทางแก้ปัญหาดังกล่าว พัฒนาการเลี้ยงโคนมมานานกว่า 9 ปี เพื่อช่วยเกษตรกรลดต้นทุนการผลิต เพิ่มคุณภาพน้ำนม
จากการวิจัยได้เทคนิค 1 ลด 2 เพิ่ม คือ ลดวันท้องว่าง เพิ่มเนื้อนม ผสมติดง่ายได้ลูกเพศเมีย โดยการจัดการก่อนและหลังคลอด การเหนี่ยวนำการตกไข่ และผสมเทียม
เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมที่ทีมวิจัยเข้ามาช่วยพัฒนาการเลี้ยง พบว่า โคนมของเกษตรกรให้ผลผลิตเพิ่ม แม่โคผสมติดลูกง่าย เปอร์เซ็นต์ได้ลูกเพศเมียสูง
ทีมวิจัยกำลังศึกษาการสืบพันธุ์โคนมให้ได้ลูกเพศเมีย 100% ผลการศึกษาที่ผ่านมาพบว่า ระยะเวลาการผสมเทียม ความสมดุลของโภชนะ ช่วยให้โคนมผสมติดง่าย ได้ลูกเพศเมียถึงร้อยละ 80. – สำนักข่าวไทย