กรุงเทพฯ 14 ก.พ. – กกพ.หวัง พลังงานลม ในพื้นที่ ส.ป.ก.เดินหน้าต่อได้ หากยึดตามประกาศกระทรวงเกษตรปี53 แต่สุดท้ายก็ต้องรอ การตัดสินใจของ ส.ป.ก.ในฐานะผู้ให้เช่า
นายวีระพล จิรประดิษฐกุล กรรมการกำกับกิจการพลังงาน หรือ กกพ. กล่าวว่า พรุ่งนี้(15 ก.พ.)กระทรวงพลังงานและกระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะหารือกับอีกรอบ เกี่ยวกับโครงการเช่าที่ดินสำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม(ส.ป.ก.)ผลิตไฟฟ้าพลังงานลม ซึ่งในขณะนี้ ยังไม่ทราบว่า ส.ป.ก.จะตัดสินใจอย่างไร โดยก่อนหน้านี้ ส.ป.ก.ระบุว่าจะดูเป็นรายโครงการ เพราะหากดูตามประกาศของกระทรวงเกษตรฯในปี 2553 แล้ว จะพบว่ามีประกาศเพิ่มเติมว่าที่ดินของ ส.ป.ก.สามารถใช้ในกิจการอื่นที่สนับสนุนการปฏิรูปที่ดิน โดยสามารถเป็นกิจการบริการ ที่ช่วยเหลือความเป็นอยู่ของเกษตรกรด้านเศรษฐกิจและสังคมได้
“กระทรวงพลังงานและกระทรวงเกษตรฯ หารือและลงนามร่วมกันในปี2553 เพื่อส่งเสริมพลังงานทดแทนร่วมกัน หนึ่งในนั้นคือ ส.ป.ก.ให้เช่าที่เพื่อผลิตไฟฟ้าพลังงานลม ข้อตกลงสำคัญคือ เอกชนผู้พัฒนาต้องจ่ายเข้า กองทุนฯ 35,000 บาท/ไร่ต่อปี ซึ่งส่วนใหญ่ ผู้พัฒนานอกจากจ่ายเข้ากองทุนฯแล้วยังมีโครงการเพื่อสังคมช่วยเหลือเกษตรกร ในพื้นที่ อย่างไรก็ตาม คงต้องรอความชัดเจนจาก ส.ป.ก.”นายวีระพลกล่าว
นายวีระพล กล่าวว่า โครงการพลังงานลมที่มีข้อตกลงเช่าจาก ส.ป.ก.มีทั้งหมด 15 โครงการ หากดูตัวเลขของ ส.ป.ก.จะมีโครงการมากกว่าเพราะบางโครงการเช่า ที่ดินคาบเกี่ยว 2 จังหวัด จึงต้องทำหนังสือเช่ากับ ส.ป.ก. 2 ฉบับ แต่หากดูผู้พัฒนาโครงการและกำลังผลิตแล้ว จะมีตัวเลขเดียวกันกำลังผลิตรวม 1,065 เมกะวัตต์ ในจำนวนนี้มีการผลิตไฟฟ้าแล้ว 5 โครงการรวม 354 เมกะวัตต์ และอีก 10 ราย711 เมกะวัตต์ อยู่ในระหว่างการพัฒนา ซึ่ง หากยกเลิกโครงการทั้งหมด ก็คงจะกระทบการลงทุน เพราะแต่ละรายลงทุน 80-90 ล้านบาท/เมกะวัตต์ หรือ รวม 8-9 หมื่นล้านบาท และส่วนใหญ่ก็มีโครงการซีเอสอาร์ในการช่วยเหลือเกษตรกรในพื้นที่ด้วย
“กกพ.เพิ่งไปดูงานโครงการพลังงานลมที่เขาค้อ ซึ่งเป็นความร่วมมือสร้างในพื้นที่ป่าไม้ ที่ชาวบ้านในพื้นที่ก็ได้ประโยชน์นอกจากจะมีวงเงินช่วยเหลือพัฒนาแล้ว พลังงานลมกลายเป็นจุดดึงดูการท่องเที่ยว ที่เกษตรกรได้ประโยชน์จากการขายการสินค้าท้องถิ่นและบริการการท่องเที่ยวอีกด้วย”นายวีระพล กล่าว – สำนักข่าวไทย