กรุงเทพฯ 15 ก.พ. – ธนาคารออมสินเตรียมเสนอ ครม.สัปดาห์หน้า ของบชดเชยเงินต้นปล่อยกู้หนี้นอกระบบ ป้องกันเกิดหนี้เสีย หลังธนาคารผ่อนเกณฑ์ปล่อยกู้ให้ลูกหนี้นอกระบบให้ผู้ที่มีหนี้เสียยังสามารถกู้ได้
นายชาติชาย พยุพนาวิชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กล่าวว่า ธนาคารเตรียมเสนอคณะรัฐมนตรีสัปดาห์หน้า เพื่อของบประมาณชดเชยเงินต้นปล่อยกู้หนี้นอกระบบ สัดส่วนร้อยละ 50 ของวงเงินปล่อยกู้ทั้งหมด 5,000 ล้านบาท เพื่อใช้ในกรณีเมื่อปล่อยกู้หนี้นอกระบบแล้วเกิดหนี้จากการปล่อยกู้ เพื่อไม่ให้กระทบหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ของธนาคาร เนื่องจากการปล่อยกู้หนี้นอกระบบธนาคารปรับเกณฑ์การปล่อยกู้ง่ายขึ้น แม้ว่าลูกหนี้ของธนาคารจะเคยมีประวัติผิดนัดชำระหนี้หรือเป็นหนี้เสีย แต่ก็จะได้รับการปล่อยกู้ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการช่วยเหลือลูกหนี้นอกระบบที่ต้องเสียดอกเบี้ยเงินนอกระบบสูงถึงร้อยละ 10-20 หรือดอกเบี้ยรายวัน จึงต้องหย่อนเกณฑ์การปล่อยกู้เพื่อให้สามารถเข้าโครงการมากขึ้น แต่ลูกหนี้จะต้องแสดงศักยภาพว่าสามารถที่จะผ่อนชำระเงินคืนให้กับธนาคารได้ โดยจะต้องมีหลักฐานบัญชีรายได้หรือยอดเงินค้าขายเพื่อแสดงกับธนาคาร
นายชาติชาย กล่าวว่า ขณะนี้เตรียมเงินกู้ไว้ 5,000 ล้านบาท เมื่อรวมกับวเงินกู้ของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) 5,000 ล้านบาท รวมเป็น 10,000 ล้านบาท โดยในส่วนของธนาคารจะสามารถปล่อยกู้ได้รายละ 20,000-50,000 บาท จำนวน 200,000 ราย จากลูกหนี้นอกระบบประมาณ 2-3 ล้านราย คาดว่าจะมี 1 ล้านรายที่ขอยื่นกู้ หากความต้องการมากธนาคารสามารถจะเพิ่มวงเงินกู้เพิ่มเติมได้อีก คาดว่าจะเริ่มปล่อยกู้หลังจากรัฐบาลเปิดตัวโครงการแก้หนี้นอกระบบวันที่ 27 กุมภาพันธ์ ให้กับลูกหนี้นอกระบบรายละ 50,000 บาท จะต้องมีบุคคลค้ำประกันหรือให้บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ค้ำประกัน แต่หากต้องการวงเงินกู้สูงกว่า 50,000 บาทต่อรายให้ใช้หลักประกันที่ใช้ค้ำประกันกับเจ้าหนี้นอกระบบมาค้ำประกันได้ ซึ่งลูกหนี้สามารถขอเงินกู้ 2 รูปแบบ คือ โครงการธนาคารประชาชน และบัตรกดเงินสด เพื่อเงินทุนหมุนเวียน คิดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 1 ต่อเดือน
นอกจากนี้ ธนาคารยังมีคณะอนุกรรมการไกล่เกลี่ยกรณีที่เจ้าหนี้นอกระบบและลูกหนี้ไม่สามารถเจรจรข้อตกลงกันได้ ซึ่งคณะกรรมการอนุกรรมการจะกระจายทุกจังหวัด เพื่อไกล่เกลี่ยหนี้ พร้อมทั้งจัดทีมฝึกอาชีพให้กับลูกหนี้นอกระบบกรณีลูกหนี้ไม่มีศักยภาพในการผ่อนชำระหนี้จะได้รับการปรับปรุงลูกหนี้ให้มีศักยภาพและสามารถเข้าสู่กระบวนการกู้กับธนาคารได้.-สำนักข่าวไทย