กรุงเทพฯ 18 ม.ค. – พลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำท่วมทางภาคใต้ ว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์มีนโยบายช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบอุทกภัย ซึ่งที่ผ่านมาติดตามสถานการณ์น้ำทางภาคใต้อย่างต่อเนื่องและเตรียมแผนให้ความช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบภัยพิบัติ เพื่อนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีสัปดาห์หน้า เบื้องต้นจะเป็นการแก้ปัญหาและช่วยเหลือเกษตรกรระยะแรก ส่วนการฟื้นฟูเกษตรกรจะต้องรวบรวมข้อมูลให้เรียบร้อยก่อน ซึ่งบางเรื่องอาจจะต้องรอให้น้ำลดระยะหนึ่ง หลังจากนั้นจะสามารถช่วยเหลือระยะที่ 2 ต่อไป
นายเลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า จากภาวะวิกฤติน้ำท่วมภาคใต้ใน 12 จังหวัด ได้แก่ ชุมพร สุราษฎร์ธานี ตรัง นครศรีธรรมราช พัทลุง นราธิวาส ปัตตานี ยะลา สงขลา กระบี่ ระนอง และประจวบคีรีขันธ์ สถานการณ์คลี่คลายแล้ว 6 จังหวัด ได้แก่ ยะลา ระนอง นราธิวาส ปัตตานี กระบี่ และชุมพร สำหรับการช่วยเหลือเร่งด่วนที่ดำเนินการในปัจจุบัน กระทรวงเกษตร ฯ ได้รับมอบหมายให้ดูแลพื้นที่การเกษตรและการระบายน้ำในระบบชลประทาน โดยทางกรมชลประทานส่งเครื่องสูบน้ำลงพื้นที่ 286 เครื่อง โดยนำไปปฏิบัติการ 149 เครื่อง และเตรียมพร้อมสนับสนุน 137 เครื่อง และสนับสนุนเครื่องผลักดันน้ำ 90 เครื่อง สูบน้ำด้วยไฟฟ้า 10 สถานี ด้านกรมปศุสัตว์ ลำเลียงเสบียงสัตว์ไปปฏิบัติการในพื้นที่ประมาณ 490,565 กก. อาหารสำเร็จที่นำไปปฏิบัติการ 180,140 กก. ด้านกรมประมง ส่งเรือตรวจการลงไปปฏิบัติการในพื้นที่ 50 ลำ และกรมฝนหลวง เตรียมอากาศยานไปปฏิบัติการในพื้นที่ 5 ลำ นอกจากนี้ การบริการด้านสุขภาพปศุสัตว์ ทางกรมปศุสัตว์ได้อพยพสัตว์ 902,874 ตัว ดูแลสัตว์ 5,184 ตัว รักษา 14,189 ตัว
ทั้งนี้ การช่วยเหลือฟื้นฟูเกษตรกรที่ประสบอุทกภัยภาคใต้ปี 2560 (Road Map) แบ่งออกเป็น 3 ระยะ ได้แก่ 1. ระยะเร่งด่วน คือ การฟื้นฟูหลังน้ำลดระยะเร่งด่วน จะมีการจัดทีมวิชาการ (คลินิกเกษตรเคลื่อนที่) เพื่อประเมินความเสียหาย ความต้องการของเกษตรกร แนะนำดูแลเบื้องต้น (พืช ประมง ปศุสัตว์) สร้างการรับรู้มาตรการช่วยเหลือของรัฐ อาทิ การช่วยเหลือตามระเบียบกระทรวงการคลัง ฯ และ มาตรการช่วยเหลือเยียวยาเกษตรกรผู้ประสบอุทกภัยฯ (ครัวเรือนละ 3,000 บาท) เป็นต้น การเร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่ลุ่มต่ำ โดยกรมชลประทาน การบำบัดน้ำเสียและขจัดกลิ่นเหม็น โดยใช้ พด. 6 จากกรมพัฒนาที่ดิน และการช่วยเหลือดูแลสุขภาพของสัตว์โดยกรมปศุสัตว์ 2. ระยะสั้น แบ่งออกเป็น การฟื้นฟูซ่อมสร้าง อาทิ การฟื้นฟูปรับปรุง บำรุงดิน โดยกรมพัฒนาที่ดิน การฟื้นฟูอาชีพด้านพืช ประมง ปศุสัตว์ และการซ่อมแซมระบบชลประทาน เป็นต้น การฟื้นฟูด้านเศรษฐกิจ มีการสนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำเพื่อการลงทุนในการประกอบอาชีพ การลดภาระหนี้สินขยายระยะเวลาชำระหนี้ให้เกษตรกร และการควบคุมราคา คุณภาพปัจจัยการผลิต และ 3. ระยะยาว คือ การฟื้นฟูพัฒนาให้ดีกว่าและปลอดภัยกว่าเดิม ได้แก่ การพัฒนาเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำ การพัฒนาก่อสร้างแหล่งกักเก็บ การปรับโครงสร้างการผลิต/อาชีพในพื้นที่ลุ่มต่ำ/น้ำท่วมซ้ำซาก โดยใช้ Agri-Mapการพัฒนาระบบพยากรณ์และแจ้งเตือนภัยระบบการประเมินความเสียหาย ระบบรายงาน และการปรับปรุง กฎ ระเบียบต่าง ๆ เป็นต้น.-สำนักข่าวไทย