รฟม. 17 พ.ย. – รฟม.เปิดซองด้านคุณสมบัติและเทคนิครถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี และ รถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง ของเอกชน 2 กลุ่ม คาดว่าได้ข้อสรุปต้นเดือนธันวาคมนี้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าวันนี้ (17 พ.ย.) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ได้เปิดซองเอกสารข้อเสนอซองที่ 1 (ด้านคุณสมบัติและเทคนิค) โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี และโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง โดยมีนายธีรพันธ์ เตชะศิรินุกูล รองผู้ว่าการ รฟม. (กลยุทธ์และแผน) ในฐานะประธานคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 35 แห่ง พ.ร.บ.การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2556 โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี และโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว – สำโรง คณะกรรมการฯ ตามมาตรา 35 พร้อมด้วยผู้แทนจากกิจการร่วมค้าบีเอสอาร์ (BSR Joint Venture) (ประกอบด้วย บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS Group บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) และบริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน)) และผู้แทนบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM ซึ่งเป็นผู้ยื่นข้อเสนอฯ เข้าร่วมการเปิดซองเอกสารข้อเสนอ ซองที่ 1
นายธีรพันธ์ เปิดเผยว่า คณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 35 ได้มีการประชุมกำหนดหลักเกณฑ์การประเมินข้อเสนอเสร็จเรียบร้อยแล้ว จึงได้มีการเปิดซองเอกสารข้อเสนอซองที่ 1 โดยเชิญผู้แทนจากผู้ยื่นข้อเสนอทั้ง 2 รายเข้าร่วมในการเปิดซองเอกสารข้อเสนอซองที่ 1 เพื่อตรวจสอบความถูกต้องของจำนวนและความเรียบร้อยของซองเอกสารข้อเสนอฯ ซึ่งคาดว่าจะใช้ระยะเวลาในการพิจารณาข้อเสนอซองที่ 1 ให้ได้ข้อสรุปภายในต้นเดือนธันวาคม 2559 จากนั้นจะพิจารณาเปิดซองเอกสารข้อเสนอซองที่ 2 (การลงทุนและผลตอบแทน) โดยจะเร่งประเมินข้อเสนอเอกชนร่วมลงทุนฯ โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูฯ และสายสีเหลืองฯ ให้ได้ข้อสรุปกลางเดือนธันวาคม 2559 ตามที่นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ได้มอบนโยบายเร่งรัดการดำเนินงาน เพื่อกระตุ้นการลงทุนของประเทศ
สำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูฯ และสายสีเหลืองฯ นั้น เป็นโครงการแบบการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน โดย รฟม.ลงทุนค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินและเอกชนผู้รับสัมปทานลงทุนด้านโครงสร้างงานโยธา งานระบบและขบวนรถไฟฟ้า (รถไฟฟ้ารางเดี่ยวแบบคร่อมราง) และให้บริการเดินรถและบำรุงรักษา รวมถึงเป็นผู้จัดเก็บค่าโดยสาร (PPP Net Cost) มีระยะเวลาสัมปทานทั้งสิ้น 33 ปี 3 เดือน แบ่งการดำเนินงานออกเป็น 2 ระยะ คือ ระยะที่ 1 งานออกแบบและก่อสร้างงานโยธา พร้อมติดตั้งระบบและขบวนรถไฟฟ้า เป็นระยะเวลา 3 ปี 3 เดือน และระยะที่ 2 งานให้บริการเดินรถและบำรุงรักษา เป็นระยะเวลา 30 ปี ทั้งนี้ โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูฯ มีมูลค่าลงทุนรวม 53,519.50 ล้านบาท และโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลืองฯ มีมูลค่าลงทุนรวม 51,931.15 ล้านบาท.-สำนักข่าวไทย