ก.คลัง 7 มี.ค. – นายพิเชษฐ์ วิริยะพาหะ รองอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ เปิดเผยว่า แนวทางการฟื้นฟูสหกณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น หลังจากศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูเป็นเวลา 26 ปี เริ่มตั้งแต่เดือนมีนาคมปี 2559 เพราะมีความเสียหายกว่า 15,000 ล้านบาท และมีเงินชำระคืนเข้ามาจากบรรดาศิษยานุศิษย์ธรรมกายและทยอยจ่ายเงินคืนไปแล้ว 1,200 ล้านบาท ขณะที่สหกรณ์คลองจั่นมีกำหนดจ่ายเงินปันผลร้อยละ 3-4 ให้กับสมาชิกเดือนมิถุนายนและธันวาคม ประมาณ 600-700 ล้านบาทต่องวด จึงต้องหาทุนเพิ่มเข้ามาแก้ปัญหาสภาพคล่อง
ทั้งนี้ หลังจากบอร์ดธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และธนาคารออมสินประเมินว่าการปล่อยสินเชื่อเพื่อฟื้นฟูสหกรณ์คลองจั่นอาจมีความเสี่ยงเกิดขึ้น จึงไม่อนุมัติสินเชื่อให้สหกรณ์คลองจั่น เนื่องจากมีปัญหาหนี้เสียวงเงินสูง การหารือของคณะกรรมการฟื้นฟู ที่มีนายอำนวย ปะติเส เป็นประธาน เห็นชอบร่วมกันหาแหล่งทุนจากการกู้ยืมสหกรณ์รายอื่นนำเงินมาตั้งกองทุนประมาณ 450 ล้านบาท เพื่อนำเงินชดเชยคืนให้สมาชิกสหกรณ์ ซึ่งเป็นช่องทางหนึ่งในการแก้ปัญหา
ส่วนกรณีกระทรวงการคลังเสนอที่ประชุม ครม.วันนี้ (7 มี.ค.) พิจารณาแนวทางการปฏิรูประบบการบริหารจัดการและกำกับดูแลกิจการสหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน เพื่อต้องการออกระเบียบควบคุมสหกรณ์ภายใต้กำกับดูแลของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ด้วยการออกข้อกำหนดทั้งการตั้งสำรองหนี้เสียเหมือนกับสถาบันการเงิน การกำหนดสัดส่วนหนี้สินต่อทุน สำหรับป้องกันความเสี่ยงจากการลงทุน การกำหนดธรรมาภิบาลของบอร์ดสหกรณ์ หวังดูแลสหกรณ์ออมทรัพย์ 1,400 แห่ง และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน 500 แห่ง โดยเน้นกำกับดูแลสหกรณ์ยูเนี่ยนที่เงินทุนมากกว่า 5,000 ล้านบาท จำนวน 300-400 แห่ง เพื่อใช้ระเบียบดังกล่าวควบคุมดูแลสหกรณ์ไม่ให้เกิดปัญหาเหมือนสหกรณ์ยูเนี่ยนคลองจั่น.-สำนักข่าวไทย