กรุงเทพฯ 10 มี.ค. – ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค ขยับเพิ่มขึ้น 3 เดือน และสูงสุดในรอบ 14 เดือน “ธนวรรธน์” มองยังไม่ใช่เวลาเหมาะสมขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม
นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย แถลงผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือนก.พ. 2560 ว่า ดัชนีความเชื่อมั่นเศรษฐกิจโดยรวม อยู่ที่ 64.3 ดีขึ้นเมื่อเทียบกับมกราคมที่ 63.1 ดัชนีความเชื่อมั่นโอกาสการหางานทำ อยู่ที่ 70.3 จากเดือนมกราคม 69.1 และดัชนีความเชื่อมั่นรายได้ในอนาคต อยู่ที่ 92.8 จาก 91.2 ในเดือนก่อนหน้า
โดนทั้ง 3 ดัชนีปรับดีขึ้นเป็นเดือนที่ 3 และสูงสุดในรอบ 14 เดือน แสดงให้เห็นว่า ขณะนี้ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคฟื้นตัวขึ้น แต่ยังเห็นว่า มีอีกหลายปัจจัยที่ต้องติดตาม ทั้งเศรษฐกิจโลก และความเคลื่อนไหวของกลุ่มประเทศยุโรป และแนวโน้มราคาน้ำมัน โดยคาดว่า ในครึ่งปีแรกเศรษฐกิจจะยังโตประมาณร้อยละ 3-4 แต่จะค่อยฟื้นตัวอีกในไตรมาส 3-4 โดยคาดว่า ไตรมาส 3 เศรษฐกิจจะโตร้อยละ 3.6-3.8 และร้อยละ 4-4.2 ในไตรมาส 4 ทำให้ทั้งปีเศรษฐกิจ ขยายตัวร้อยละ 3.6 ตรมกรอบที่ศูนย์ฯเคยคาดการณ์ไว้ ขณะที่เงินเฟ้อร้อยละ 1.5-2
นอกจากนี้สิ่งที่ผู้บริโภคยังวิตกกังวลต่อปัญหาเศรษฐกิจ ยังไม่เชื่อมั่นเศรษฐกิจโลกจะฟื้นได้จริง ประกอบกับสินค้าเกษตร เช่น ข้าว ยังมีราคาไม่ดีขึ้น แต่ก็ยังเชื่อมั่นว่า ไตรมาส 3-4 ที่จะมีงบกลางปีกว่า 1 แสนล้านบาทเข้าสู่ระบบ และความชัดเจนเศรษฐกิจโลก หากมีทิศทางที่ชัดเจน จะทำให้ผู้บริโภคมั่นใจและจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น โดยเฉพาะสินค้าคงทน ทั้งบ้าน รถยนต์
ส่วนกรณีภาษีมูลค่าเพิ่ม ที่มีกระแสว่า จะปรับเพิ่มจากร้อยละ 7 หรือไม่นั้น นายธนวรรธน์กล่าวว่า จากข้อมูลโดยรวม จะเห็นว่า การเก็บภาษีต่างๆ จากฐานผู้เสียภาษีเงินได้กว่า 9 ล้านคน แต่จัดเก็บภาษีเข้าระบบได้เพียง 3 ล้านคน ทำให้การจัดเก็บภาษีเข้าระบบไม่ได้เต็มที่ ประกอบกับตามข้อผูกพันระหว่างประเทศ ซึ่งต้องลดภาษีศุลกากร รายได้ภาษีโดยรวมของรัฐจึงลดลง
อย่างไรก็ตาม การขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม หากจัดเก็บเหมือนกับญี่ปุ่น ที่กำหนดไว้จากเดิมร้อยละ 5 ขึ้นทันทีเป็นร้อยละ 8 จะทำให้เศรษฐกิจช็อก และเกิดผลเสียต่อระบบเศรษฐกิจในประเทศ ขณะที่ไทยที่มีสัญญาณว่า จะเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มที่ร้อยละ 7 ต่อไปจนถึงปี 2561 แสดงว่าเศรษฐกิจยังฟื้นตัวไม่เต็มที่ แต่หากมีการปรับอัตราให้สูงขึ้น จะต้องมองถึงเศรษฐกิจไทย จะต้เองมีอัตราการเติบโตร้อยละ 4 ขึ้นไป และสินค้าเกษตรของไทยราคาดีขึ้น เพราะจะทำให้ประชาชนมั่นใจ และสามารถรับภาระภาษีที่สูงขึ้นได้ แต่ขณะนี้หากจะมีการปรับภาษีมูลค่าเพิ่ม เพื่อชดเชยรายได้ที่ขาดหายไปด้านอื่นๆ เห็นว่า ยังไม่ใช่ช่วงเวลาที่เหมาะสม – สำนักข่าวไทย