สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เผย ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) มกราคม 2560 ยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่องที่ร้อยละ 1.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปีก่อน
นายวีรศักดิ์ ศุภประเสริฐ รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) ในเดือนแรกของปี 2560 ยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่องอยู่ที่ร้อยละ 3.1 เมื่อเทียบจากเดือนธันวาคมที่ผ่านมา และขยายตัวที่ร้อยละ 1.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปีก่อน โดยอุตสาหกรรมสำคัญที่ส่งผลบวก ได้แก่ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กกล้าขั้นมูลฐาน ผลิตภัณฑ์ทางเภสัชกรรม รถยนต์ และผลิตภัณฑ์เบเกอรี่
สินค้าในอุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลบวกต่อดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) ได้แก่ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 29.77 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากความต้องการใช้ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์จำพวก Other IC, Monolithic IC และ Transistors ที่เพิ่มขึ้นในสินค้าที่เกี่ยวกับรถยนต์ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และชิ้นส่วนของอุปกรณ์สื่อสาร
เหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กกล้าขั้นมูลฐาน ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 13.64 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนเนื่องจากความต้องการเหล็กทรงยาวเพิ่มขึ้นในทุกสินค้า โดยเฉพาะเหล็กเส้นข้ออ้อย เหล็กลวด และเหล็กลวดแรงดึงสูง ในขณะที่เหล็กทรงแบน มีความต้องการเพิ่มขึ้นในเหล็กเคลือบสังกะสี และเหล็กแผ่นรีดร้อน จากราคาสินค้าเหล็กที่ยังคงปรับสูงทำให้ได้คำสั่งซื้ออย่างต่อเนื่อง
ผลิตภัณฑ์ทางเภสัชกรรม เคมีภัณฑ์ที่ใช้รักษาโรค ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 23.32 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และมีการขยายฐานการผลิตในบางโรงงานจากปีก่อน
รถยนต์ ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.32 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากผู้ผลิตเริ่มทำการผลิตรถยนต์รุ่นใหม่ ประกอบกับสถานการณ์การส่งออกและราคาพืชผลการเกษตรเริ่มปรับตัวดีขึ้น รวมถึงผลจากการเร่งซื้อในช่วงก่อนปรับภาษีสรรพสามิตใหม่ในเดือนมกราคม 59 และการชะลอตัวทางเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้า
สินค้าในอุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลลบต่อดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) ได้แก่ เครื่องประดับ ปรับตัวลดลงร้อยละ 20.72 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากแนวโน้มความนิยมของสินค้าที่ปรับตัวลดลง โดยปรับเปลี่ยนไปตามช่วงเวลาและเทรนด์แฟชั่น รวมถึงภาวะเศรษฐกิจของผู้บริโภค เป็นหลัก
เครื่องปรับอากาศและชิ้นส่วน ปรับตัวลดลงร้อยละ 9.12 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากมีการเลิกผลิตสินค้ารุ่นเก่าซึ่งเป็นสินค้าหลักที่ผลิตจำนวนมากมาผลิตสินค้ารุ่นใหม่ที่มีคุณภาพและประหยัดพลังงาน (Inverter) รวมถึงมีการกระตุ้นตลาดอย่างต่อเนื่อง โดยพบว่าการจำหน่ายในประเทศเพิ่มขึ้นได้ร้อยละ 4.12 ส่วนการส่งออกลดลงร้อยละ 10.21
ยาสูบ ปรับตัวลดลงร้อยละ 24.35 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากช่วงเดียวกันของปีก่อนได้เร่งการผลิตเพิ่มขึ้นจากกระแสข่าวที่จะมีการปรับขึ้นภาษีบุหรี่ของกรมสรรพสามิต เพื่อเตรียมรองรับกับคำสั่งซื้อและรักษาระดับสินค้าสำเร็จรูปคงคลัง
เครื่องยนต์สำหรับรถยนต์ ปรับตัวลดลงร้อยละ 4.40 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากการบริโภคสินค้าคงทนที่เป็นไปอย่างระมัดระวังและตลาดส่งออกที่ยังชะลอตัวต่อไป ส่งผลให้ยอดจำหน่ายเครื่องยนต์เพื่อนำไปประกอบรถยนต์ในประเทศลดลงไปร้อยละ 7.44 เช่นเดียวกับการส่งออกเครื่องยนต์ลดลงร้อยละ 9.27 – สำนักข่าวไทย