กรุงเทพฯ 19 พ.ย.-“พล.อ.วิทวัส” ได้รับเลือกเป็น 1 ใน 5 กรรมการบริหาร IOI ถือเป็นคนแรกของภูมิภาคเอเชีย เผยการประชุมระดับโลกของสถาบันผู้ตรวจการแผ่นดินระหว่างประเทศ ครั้งที่ 11 เป็นเวทีแลกเปลี่ยนความเห็นของประเทศสมาชิกทั่วโลก พร้อมนำมาประยุทธ์ใช้กับการทำงาน หนุนความร่วมมือขยายเครือข่ายเชื่อมต่อองค์กรตรวจสอบภาครัฐ มุ่งยกระดับองค์กรผู้ตรวจการแผ่นดินไทย
พล.อ.วิทวัส รชตะนันทน์ ผู้ตรวจการแผ่นดิน ปฏิบัติหน้าที่แทนประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน กล่าวถึงความสำเร็จในการเป็นเจ้าภาพจัดประชุมระดับโลกของสถาบันผู้ตรวจการแผ่นดินระหว่างประเทศ ครั้งที่ 11 ระหว่างวันที่ 13-19 พฤศจิกายน 2559 ว่า เป็นเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็นของประเทศสมาชิกทั่วโลกที่ได้มีการหยิบยกประเด็นที่หลากหลายมาให้ความรู้ และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ที่สามารถประยุกต์ใช้ให้เข้ากับบริบทของแต่ละประเทศ เพื่อยกระดับมาตรฐานของผู้ตรวจการแผ่นดินแต่ละประเทศให้ทัดเทียมกัน
พล.อ.วิทวัส กล่าวด้วยว่า สำหรับเวทีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในครั้งนี้ ได้รับทราบถึงปัญหาอุปสรรคและแนวทางการแก้ไขที่สามารถนำมาเป็นแนวทางขยายโอกาสในการเข้าถึงผู้ตรวจการแผ่นดิน เช่น ประเทศเซอร์เบียที่ได้ประสานความร่วมมือกับเครือข่ายเทศบาลต่าง ๆ ทั่วประเทศในการใช้ห้องสมุดท้องถิ่นเป็นจุดรับเรื่องร้องเรียน ทำให้ชาวเซอร์เบียเข้าถึงผู้ตรวจการแผ่นดินได้มากยิ่งขึ้น หรือประเทศเกาหลีที่พัฒนาระบบการรับเรื่องร้องเรียนขององค์กรตรวจสอบทั้งหมดไว้ในระบบเดียวที่เรียกว่า E-People ซึ่งเป็นระบบรับเรื่องร้องเรียนออนไลน์แบบครบวงจรที่ประชาชนสามารถยื่นเรื่องร้องเรียนได้ถึง 14 ภาษา เนื่องจากต้องการลดความสับสนในการยื่นเรื่องของประชาชนไปยังหลาย ๆ หน่วยงานที่มีบทบาท อำนาจหน้าที่ใกล้เคียงกัน อีกทั้งลดความซ้ำซ้อนในการพิจารณาเรื่องร้องเรียนของหน่วยงานด้วย ซึ่งคล้ายกับประเทศไอร์แลนด์ที่พัฒนาระบบการรับเรื่องเรียนแบบ “One Single Door For Complaints” การรับเรื่องร้องเรียนผ่านระบบเดียวนี้จะลดความสับสน ประหยัดเวลาและค่าใช้จ่าย สะดวกต่อประชาชนที่จะเข้าถึงบริการมากยิ่งขึ้น
พล.อ.วิทวัส กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ที่ประชุมยังกล่าวถึงนโยบายของสถาบันผู้ตรวจการแผ่นดินระหว่างประเทศที่ต้องให้ผู้ตรวจการแผ่นดินทำงานอย่างอิสระ ไม่ถูกคุกคามจากหน่วยงานใด ๆ ปราศจากการแทรกแซงจากรัฐบาลและการเมือง แต่ทั้งนี้ต้องให้ความช่วยเหลือและสนับสนุนการทำงานของผู้ตรวจการแผ่นดินเพื่อเป็นหลักประกันในการทำงานด้านการตรวจสอบเรื่องร้องเรียน ส่งผลให้ประชาชนเกิดความเชื่อมั่นในองค์กรผู้ตรวจการแผ่นดิน รวมทั้งเน้นย้ำประเทศสมาชิกให้ดำรงไว้ซึ่งหลักความยุติธรรม โดยไม่พิจารณาเฉพาะเรื่องกฎหมายเพียงอย่างเดียว ซึ่งนับเป็นหลักการสำคัญที่ผู้ตรวจการแผ่นดินทั่วโลกต้องยึดมั่น
ด้านนายรักษเกชา แฉ่ฉาย เลขาธิการและโฆษกสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน กล่าวว่า จากการประชุมครั้งนี้ได้มีการเลือกตั้งกรรมการฝ่ายบริหารของสถาบันผู้ตรวจการแผ่นดินระหว่างประเทศ (International Ombudsman Institute หรือ IOI) ชุดใหม่ จำนวน 5 คน ซึ่งประกอบด้วย นายปีเตอร์ ทินดัล ผู้ตรวจการแผ่นดินแห่งไอร์แลนด์ ดำรงตำแหน่งประธาน นางไดแอน เวลบอร์น ผู้ตรวจการแผ่นดินแห่งเมืองเดย์ตันและมอนท์โกเมอรี มลรัฐโอไฮโอ สหรัฐอเมริกา ดำรงตำแหน่งรองประธานคนที่ 1 นายคริส ฟิลด์ ผู้ตรวจการแผ่นดินแห่งรัฐเวสเทิร์นออสเตรเลีย เครือรัฐออสเตรเลีย ดำรงตำแหน่งรองประธานคนที่ 2 นายกึนเธอร์ ครอยเตอร์ ผู้ตรวจการแผ่นดินแห่งสาธารณรัฐออสเตรีย ดำรงตำแหน่งเลขาธิการ และ พล.อ.วิทวัส ได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งเหรัญญิก โดยรับผิดชอบการบริหารจัดการด้านงบประมาณและการเงินของสถาบันฯ ให้เกิดความโปร่งใสและให้เกิดประสิทธิผลสูงสุด รวมทั้งจะต้องมีส่วนร่วมในการวางแผนยุทธศาสตร์และการปฏิรูป IOI ที่ขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการ
“พล.อ.วิทวัส ถือเป็นผู้ตรวจการแผ่นดินคนแรกของภูมิภาคเอเชียที่ได้รับเลือกให้เป็นคณะกรรมการฝ่ายบริหารของสถาบันผู้ตรวจการแผ่นดินระหว่างประเทศ นับว่าสร้างเกียรติภูมิให้กับประเทศไทยและภูมิภาคเอเชียที่จะได้เข้าไปมีส่วนร่วมนำเสนอข้อคิดเห็น นโยบายที่เป็นประโยชน์ รวมทั้งนำผลจากการประชุมของสถาบันผู้ตรวจการแผ่นดินระหว่างประเทศมาพัฒนาองค์กรผู้ตรวจการแผ่นดินแห่งราชอาณาจักรไทย รวมทั้งภูมิภาคเอเชียต่อไป” นายรักษเกชา กล่าว
นายรักษเกชา กล่าวด้วยว่า นอกจากที่ประยังได้หารือเพื่อขยายเครือข่ายความร่วมมือในระดับทวิภาคีกับผู้ตรวจการแผ่นดินจากสาธารณรัฐอุซเบกิสถานเพื่อนำไปสู่กรอบแนวทางการลงนามในบันทึกข้อตกลงในอนาคตที่เกี่ยวกับการเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างกัน รวมทั้งพัฒนาระบบการแก้ไขปัญหาเรื่องร้องเรียน แลกเปลี่ยนประสบการณ์ อีกทั้งแสวงหาจุดที่เป็นผลประโยชน์ร่วมกัน และแก้ไขความเดือดร้อนของประชาชนของทั้งสองประเทศ เนื่องจากรัฐบาลไทยได้มีการลงนามความร่วมมือทางด้านการท่องเที่ยวกับรัฐบาลอุซเบกิสถาน ซึ่งคาดว่าจะมีประชาชนของแต่ละประเทศไปมาหาสู่กันมากขึ้น และอาจจะต้องมีการขอรับบริการจากหน่วยงานของรัฐของแต่ละประเทศและอาจจะมีปัญหาที่จะนำไปสู่การร้องเรียนในด้านความไม่เป็นธรรม ทำให้ผู้ตรวจการแผ่นดินของแต่ละประเทศอาจต้องเข้าไปมีบทบาทในเรื่องนี้ ดังนั้นแนวคิดในเรื่องการลงนามในข้อตกลงดังกล่าวจึงเป็นประโยชน์ในเรื่องของการคุ้มครองประชาชนในแต่ละฝ่ายในต่างแดน.-สำนักข่าวไทย