กรุงเทพฯ 17 ก.พ.-มูลนิธิศึกษาวิจัยนกเงือก คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล จัดกิจกรรมวันรักนกเงือก เร่งระดมทุนหารายได้ เพื่อสร้างโพรงรังเทียมและติดตามชีวิตนกเงือก หลังมี 3 สายพันธุ์ใกล้สูญพันธุ์
นกเงือกเป็นดัชนีชี้วัดความสมบูรณ์ของผืนป่า หากสูญพันธุ์ สิ่งมีชีวิตต่างๆ ก็อาจสูญพันธุ์ตามไปด้วย โดยเฉพาะพันธุ์ไม้กว่า 200 ชนิดที่เป็นอาหาร ปัจจุบันไทยมีนกเงือกทั้งหมด 3,987 ตัว เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วเพียง 40 กว่าตัว มูลนิธิศึกษาวิจัยนกเงือก คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมมือกับหลายหน่วยงานจัดกิจกรรมวันรักนกเงือก เพื่อหาทุนวิจัย
โครงการศึกษาช่วงฤดูผสมพันธุ์ เก็บข้อมูลขยายพันธุ์ ซ่อมแซมปรับปรุงโพรงรัง ติดเครื่องส่งสัญญาณผ่านดาวเทียมเพื่อศึกษาการอพยพของนกเงือก รวมถึงใช้เป็นทุนจัดกิจกรรมปลูกจิตสำนึกคนในชุมชน โดยเฉพาะพรานล่านกเงือก ให้หันมาดูแลสัตว์ที่ต่อยอดวงจรชีวิตมนุษย์และผืนป่า
นกเงือกในไทยมีทั้งหมด 13 สายพันธุ์ อาทิ นกเงือกกรามช้าง นกเงือกหัวหงอก นกเงือกหัวแรด ตลอด 36 ปีในการศึกษาวิจัยนกเงือกตั้งแต่ปี 2524 สามพื้นที่ป่าอนุรักษ์ ทั้งเขาใหญ่ ห้วยขาแข้ง และเทือกเขาบูโดใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ ได้ลูกนกถึง 3,987 ตัว ระยะเวลา 1 ปี ได้ต้นไม้คืนความสมบูรณ์สู่ป่ากว่า 70,000 ต้น แต่ทุนที่ใช้แต่ละเดือนสูงเกือบละ 500,000 จึงต้องเร่งระดมทุน และตั้งแต่ปี 2544 กำหนดให้วันที่ 13 กุมภาพันธ์ของทุกปี เป็นวันรักนกเงือก มุ่งกระตุ้นจิตสำนึกให้ทุกคนช่วยกันรักษาสมดุลของระบบนิเวศ การตัดไม้ทำลายป่า ส่งผลกระทบโดยตรงต่อระบบนิเวศและทรัพยากรสัตว์ป่า เมื่อป่าอยู่ไม่ได้ นั่นหมายถึงวงจรชีวิตสัตว์ รวมถึงมนุษย์ก็อยู่ได้ยาก ท่ามกลางธรรมชาติที่ถูกทำลายโดยฝีมือมนุษย์ด้วยกันเอง.-สำนักข่าวไทย