กรมประชาสัมพันธ์ 20 ก.พ. – กอช.เตรียมเสนอกระทรวงการคลังแก้กฎกระทรวงเพิ่มอัตราจ่ายสมทบจาก 1,200 บาท เป็น 2,500 บาท เพื่อจูงใจประชาชนออมเงินเพิ่มขึ้น พร้อมตั้งเป้าสมาชิกปีนี้ 1 ล้านคน
นายสมพร จิตเป็นธม เลขาธิการกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) เปิดเผยว่า กอช.ตั้งเป้าปีนี้จะเพิ่มจำนวนสมาชิกเป็น 1 ล้านคน จากปัจจุบัน 525,840 คน และคาดจะมีเงินกองทุนรวมเป็น 3,000 – 4,000 ล้านบาท จากปัจจุบัน 1,962 ล้านบาท โดยจะใช้กลไกผ่านคณะกรรมการจังหวัดและคณะกรรมการกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง รวบรวมรายชื่อแล้วนำส่งสมัครกับสถาบันการเงินที่เป็นสมาชิก ตลอดจนเดินสายตามโรงเรียนต่าง ๆ เพื่อเพิ่มจำนวนสมาชิกและปลูกฝังวินัยการออมตั้งแต่วัยเด็ก และหากสามารถเพิ่มจำนวนสมาชิกได้ถึงหลักล้านจะช่วยเพิ่มอำนาจต่อรอง ค่าเบี้ยประกันชีวิต ประกันอุบัติเหตุ หลังมีแผนเพิ่มสิทธิประโยชน์สมาชิก ทั้งทำประกันและออกบัตรสมาชิกเพื่อซื้อสินค้าราคาถูกในร้านค้าประชารัฐ
ทั้งนี้ เตรียมเสนอกระทรวงการคลังแก้ไขกฎกระทรวงปรับเพิ่มอัตราการจ่ายเงินสมทบ จากปัจจุบันจ่ายสูงสุด 1,200 บาท เป็น 2,500 บาท จากบัญชีแนบท้ายที่กำหนดว่าสามารถปรับแก้ได้สูงสุด 6,000 บาท แต่ยังคงเกณฑ์วิธีการจ่ายสมทบตามอัตราขั้นบันไดตามระดับอายุไว้เช่นเดิม เพื่อจูงใจประชาชนจ่ายเงินสมทบอย่างต่อเนื่องทุกเดือนตลอดทั้งปี หลังจากปีที่ผ่านมาประชาชนจ่ายเงินออมเข้ากองทุนน้อยและไม่ต่อเนื่อง คาดว่าเกษตรกรซึ่งเป็นสมาชิกส่วนใหญ่ของ กอช.ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง ประกอบกับราคาพืชผลทางการเกษตรตกต่ำและภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว จึงลดการออมเงินลง นอกจากนี้ กอช.ยังเตรียมเปิดให้บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนเสนอแผนการลงทุน เนื่องจากปัจจุบัน กอช.วางแผนลงทุนเองและปีที่แล้วได้ผลตอบแทนรวมร้อยละ 2
ทั้งนี้ ณ วันที่ 31 มกราคม 2560 มีเงินกองทุนรวม 1,962 ล้านบาท แบ่งเป็นเงินสะสม 1,460 ล้านบาทและเงินสมทบ 502 ล้านบาท สมาชิก 525,840 ราย อาชีพสมาชิกแบ่งเป็นเกษตรกร ร้อยละ 54.70 ไม่ประกอบอาชีพ ร้อยละ 19.20 ค้าขาย ร้อยละ 10.90 อายุของสมาชิกส่วนใหญ่อยู่ในช่วงมากกว่า 30 ปี แต่ไม่เกิน 50 ปี ร้อยละ 42 ถิ่นที่อยู่ของสมาชิกส่วนใหญ่อยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ร้อยละ 46.10 รองลงมา ภาคกลาง ร้อยละ 22.80 และภาคเหนือ ร้อยละ 11.60
นายสมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า การเพิ่มเงินสมทบสมาชิก กอช.เป็น 2,500 บาท ต้องไม่เป็นภาระงบประมาณเกินไปและต้องเป็นผลดีต่อสมาชิกอย่างแท้จริง ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษา แต่หากไม่มีกองทุนสวัสดิการ อาทิ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) กองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ (กบช.) กอช.ในอีก 10 – 15 ปีข้างหน้าจะทำให้ภาครัฐต้องรับภาระงบประมาณ 600,000 -700,000 ล้านบาทในการดูแลประชาชน.-สำนักข่าวไทย